การเก็บความประทับใจพัฒนาการของลูกด้วยรายงานประจำปี : คำแนะนำสำหรับการเขียนรายงานผลการเรียนรู้ประจำปี
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
สำหรับบ้านเรียนที่จดทะเบียนกับเขตหรือโรงเรียนรุ่งอรุ่ณสิ่งหนึ่งที่ต้องทำประจำปี คือการเขียนรายงานการจัดการเรียนรู้ประจำปี

 
ผมไม่แน่ใจว่าเป็นยาขมสำหรับหลาย ๆ คนหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ถ้ามีเวลาเพียงพอ ผมพบกับตนเองและเพื่อนบ้านเรียนอื่นเสมอว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำช่วงหนึ่งที่เราได้ย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำ เรื่องดี ๆ ที่เห็นลูกเติบโต รูปความประทับใจต่าง ๆ ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มจากตรงนั้น รายงานประจำปีก็ไม่ได้น่าเบื่อหรือเป็นยาขมเท่าไหร่


 
จริง ๆ รายงานประจำปีของเราไม่ได้เริ่มที่การเขียนรายงาน แต่มันเริ่มตอนที่เราเก็บความประทับใจของเราที่มีต่อลูกลงบนสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บันทึกประจำวัน รูปถ่าย และสิ่งที่หลายคนขาดไม่ได้ในทุกวันนี้คือ facebook ผมเป็นคนหนึ่งที่บันทึกพัฒนาการลูกไว้บน facebook @บ้านเรียนเปื้อนฝุ่น  และใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเก็บร่องรอยการเรียนรู้เพื่อทำรายงาน สำหรับเทคนิคการบันทึกเรื่องราวผมเคยเขียนไว้ที่ เทคนิคการบันทึกร่อยรอยการเรียนรู้ของลูก  นอกจากนี้ยังมี page บ้านเรียนต่าง ๆ ที่มีลักษณะบันทึกการเรียนรู้ของลูกไว้ด้วย เช่น homeschool Happy Field Homeschool หรือ จะดูที่ รวม page บ้านเรียน ก็ได้ครับเยอะหน่อย แต่บ้างบ้านก็ไม่ได้เน้นบันทึกร่องรอยการเรียนรู้ 
 
เข้าเรื่องรายงานกันเลย
 
เขียนเพื่ออะไร
 
ผมขอเริ่มจากว่า ในความคิดของผม เราเขียนเพื่อให้ใครก็ได้ (ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่เขต ) มาอ่านแล้วเห็นภาพว่า 1. เรามีกระบวนการการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกอย่างไรในปีที่ผ่านมา และ 2. พัฒนาการลูกเป็นอย่างไรบ้าง 3. เรามีความคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เราทำในปีที่ผ่านมา ตอบคำถาม 3 ข้อนี้ได้ชัดเท่าไหร่ยิ่งดี
 
ข้อสำคัญ เนื้อหาที่ตอบด้านบนครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ายิ่งสั้นกระชับยิ่งดี ตอนทำงานที่ทำงานเขียน proposal ขอแหล่งทุนเงินต่างประเทศเป็นล้าน ถูกกำหนดให้เขียนแค่ ไม่กี่สิบหน้า แถมกำหนดจำนวนที่ห้ามเกิน เพราะคนอ่านคงไม่อยากอ่านยาว ๆ ที่อาจจะมีน้ำเยอะ ซึ่งดี คือเราต้องสรุปใจความที่สำคัญที่สุดให้อ่านรู้เรื่องโดยไม่ยาวเกินไป
 
ข้อมูลที่ไม่เข้าใจ ไม่ได้อยู่ในความสนใจ แต่ต้องมีในรายงานสำหรับเขตการศึกษา
 
ทีนี้ถ้าเราจดทะเบียนกับเขตการศึกษา ข้อมูลตามที่กล่าวด้านบนแค่นั้นมันไม่พอ เพราะจะมีข้อมูลบ้างอย่าง ที่อยู่นอกความสนใจ หรือการรับรู้ของเรา แต่ทางเจ้าหน้าที่เขตจะกวาดตามอง เพราะจำเป็นสำหรับเขาในการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียน เป็นข้อมูลบางอย่างที่แปลก ๆ สำหรับเรา แต่มันเป็น format ที่เป็นตามระบบโรงเรียน และส่งต่อมาให้เราซึ่งผมคิดว่าหลาย ๆ การเขียนรายงานส่งเขตในปีแรกจะงงมาก ผมเลยอยากลดช่องว่างตรงนี้ด้วยการทำ แบบฟอร์มรายงานผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ซึ่งในนี้จะมีหัวข้อตามที่คู่มือการจัดการศึกษาโดยครอบครัวกำหนดไว้ แต่หัวข้อในคู่มือนี้ ไม่ได้ระบุ ถึงข้อมูลบางอย่างที่เจ้าหน้าที่ต้องการ และมักจะตีกลับรายงานของเราให้ไปเพิ่มเติมมา โดยที่เราก็งง ๆ ว่ามันเป็นข้อมูลอะไร ไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ได้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของเราเท่าไหร่ จะใส่ไปทำไม ซึ่งจริง ๆ ข้อมูลพวกนี้ก็อาจจะคุ้นมาบ้างตั้งแต่ตอน เขียนแผนแล้ว เช่น กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โครงสร้างการเรียน ฯลฯ เป็นต้น
 
ภาคผนวก ที่รวมของร่องรอยการเรียนรู้และข้อมูลดิบ
 
ก่อนจะเข้าสู่คำแนะนำในการเขียนรายงาน ผมอยากจะแนะนำให้คนที่ไม่คุ้นกับการเขียนงานวิชาการได้ทำความรู้จักกับภาคผนวกไว้สักหน่อย  คือกล่าวโดยง่าย ภาคผนวกจะเป็นส่วนเสริมในรายงาน ที่จะแสดงถึงหลักฐาน หรือข้อมูลต่าง ๆ  ในรายละเอียด ซึ่งถ้านำไปใส่ไว้ในเนื้อหาอาจจะทำให้ตัวรายงานยาวเกินไปขาดความกระชับ ซึ่งในที่นี้ก็จะหมายถึงร่องรอยการเรียนรู้ต่าง ๆ ของลูกนั้นเอง ในรายงานเราอาจจะเล่าโดยสรุปว่า ลูกมีความสามารถอะไรที่พัฒนาขึ้น ทำอะไรได้ เช่นคิดเลข 2 หลักได้ แต่หลักฐานหรือร่องรอยว่าเค้าทำได้ อาจจะเป็นภาพถ่ายหรือแบบฝึกหัดที่ลูกทำเราสามารถเอาใส่ไว้ในภาคผนวก
 
ทำไมสำคัญ คือจากประสบการณ์ส่วนตัวผมคิดว่าการเขียนรายงานที่เริ่มจากเริ่มจากการรวมข้อมูลดิบ พวกบันทึก ภาพการไปเที่ยว ความประทับใจต่าง ๆ ก่อนจะทำให้การเขียนรายงานง่ายขึ้นเยอะ ถ้าเริ่มจากกรอบมาตรฐานการเรียนรู้มักจะทำให้เขียนไม่ออก ซึ่งข้อมูลดิบพวกนี้เราเอาไปกองรวมไว้ในภาคผนวกก่อน
 
 
เริ่มลงมือแบบ How to เลยนะครับ 
 
1. รวบรวมสิ่งที่เราะประทับใจลูกใน 1 ปี หรือพัฒนาการสำคัญ ๆ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครประทับใจมาก มีจุดที่บันทึกพัฒนาการลูกไว้มากก็จะมีข้อมูลดิบใช้ทำรายงานเยอะหน่อย อย่างของผมเอาจาก page บ้านเรียนเปื้อนฝุ่น มาใช้ แต่ลำบากเรื่องการจัดหน้า เรียบเรียงรูปนิดหน่อย 
 
แยกหมวด หรือเรื่องไว้คร่าว ๆ ใส่เป็นข้อมูลดิบไว้ในภาคผนวก เช่น ภาคผนวก ก รวมทริปท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ  ภาคผนวก ข รวมพัฒนาการด้านดนตรี ภาคผนวก ค. กีฬา ฯลฯ ถ้าคิดหัวข้อไม่ออก ก็กองรวม ๆ กันก่อน หรือ ถือเป็นการทบทวนย้อนระลึกชาติว่า เราทำกิจกรรม จัดการเรียนรู้อะไรให้ลูกบ้าง ทำให้เริ่มลงมือเขียนรายงานง่ายขึ้นครับ 
 
2. รายงานผลการเรียนรู้
 
(ก่อนอ่านต่อไป ขอให้พริ้นหรือเปิด แบบฟอร์มรายงาน มาดูคู่กันไปด้วยเลยนะครับ)
 
ถึงหัวข้อนี้ถือว่าเป็นการไล่กรอกข้อมูลไล่ตาม หัวข้อของรายงานได้เลยครับ 
หัวข้อ 1 ข้อมูลพื้นของผู้เรียนและครอบครัว ไม่น่าจะมีอะไรมาก น่าจะ copy ปรับปรุงจากแผนมาใช้ได้เลย 
 
ที่สำคัญก็คือ หัวข้อ 2. ผลการจัดการเรียนรู้ 
 
ผมคิดว่าตรงนี้เราควรจะเล่าว่าในรอบ 1 ปี ผู้เรียนได้มีกิจกรรมการเรียนรู้อะไรบ้าง ทำอะไร ที่ไหน ยังไงบ้าง เป็นระยะเวลาเท่าไหร่  เช่น เรียนยิมนาสติก อาทิตย์ละกี่ครั้ง ครั้งละกี่ชั่วโมง เป็นเวลากี่เดือน กี่สัปดาห์ หรือช่วงเดือนไหน ถึงเดือนไหน  คืออาจจะไม่ต้องละเอียดครบทั้งหมด เอาเท่าที่บันทึกไว้ แต่อย่างน้อยให้เห็นภาพรวมการเรียนรู้ของเด็ก อาจจะมีตัวอย่างตารางชีวิตประจำวัน ใน 1 อาทิตย์ 
 

3. ผลการประเมินพัฒนาการของผู้เรียน
 
คือหัวข้อนี้จะชวนงง นิดหน่อย ตรงที่ในหลักสูตรแกนกลาง จะออกแบบมาว่าจะต้องประเมินเด็กใน 3 ส่วนคือ 1) ด้านความรู้ 2) ทักษะ ความสามารถ และ 3) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ซึ่งบ้านเรียนเรามักไม่ได้สนใจแยกประเมินแบบนี้ แต่ข้อมูลที่จะกรอกลงในฟอร์ม จะนำไปใช้ในเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา จึงขอให้มีครบถ้วนตามนั้น
 
เริ่มเลยย 
 
     3.1 ผลการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนในด้านความรู้ หัวข้อนี้น่าจะชวนปวดหัวที่สุด แต่ถ้าใครทำแผนมาได้ดี โดยเฉพาะถ้าเป็นแผนที่สอดคล้องกับกระบวนการจัดจริง ๆ ก็จะง่ายขึ้น 
     
หลัก ๆ ก็คือ ลอกตารางตามแผนการจัดการศึกษาของเรามาใส่ไว้ ในส่วนของ กลุ่มสาระวิช/ กลุ่มประสบการณ์ พัฒนาการของผู้เรียน ที่เราตั้งไว้ในแผนก่อน ตรงส่วนของกลุ่มวิชา หรือกลุ่มประสบการณ์ หากแผนใครไม่ได้ใส่ สัดส่วน ซึ่งอาจจะเป็น ร้อยละ หรือเป็นจำนวนชั่วโมงเรียน หรือ ค่าน้ำหนัก / หน่วยกิต (ขอให้มีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้ามี 1 แล้วสามารถแปลงไปมาได้หมด) ต้องระบุไว้ด้วยนะครับ คือมันจะเป็นตัวบอกว่าเราให้ความสำคัญกับ เนื้อหาสาระส่วนไหน เช่น ถ้าสังเกต ในโรงเรียน พวก วิทย์ คณิต จะน้ำหนักเยอะ 3 - 4 หน่วยกิตแต่กีฬา จะ 1 หน่วยกิต อะไรแบบนี้เป็นต้นครับ 
 
ที่เราต้องใส่หรือเขียนใหม่จริง ๆ ก็จะเป็นร่องรอยการเรียนรู้ คือเป็นการอธิบายว่า มีเหตุการณ์ หรือหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีพัฒนาการตามที่เราคาดหวัง ก็อธิบายไป ถ้ายาวมาก หรือเป็นรูปภาพ เราก็เขียนชี้ว่าให้ไปดูในภาคผนวก XXX ที่เรารวบรวมไว้ 
 
นอกเหนือจากคุณภาพผู้เรียนที่เราตั้งไ้ว้ ผมคิดว่าถ้าเราเห็นพัฒนาการลูกที่สำคัญเรื่องไหน ยังไงก็ใส่เพิ่มไปได้นะครับ 
 
ทีนี้ถ้าเกิดใครไม่ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาการ/คุณภาพผู้เรียนผู้เรียนไว้ในแผน ไม่เป็นไร เราก็ใช้สามารถใช้สายตาของเราเองนี่แหละ บันทึกพัฒนาการของลูกที่คุณคิดว่าสำคัญตามกรอบกลุ่มประสบการณ์/สาระวิชานั้น ๆ ใส่ลงไปได้เลย 
 
เมื่อทำเสร็จแล้วถ้าใครไม่แน่ใจว่า ควรบันทึกเรื่องไหน หรือบันทึกในลักษณะไหน หรือบันทึกครอบคลุมไหม ควรเขียนให้กว้างหรือแคบแค่ไหน สามารถใช้ มาตรฐานคุณภาพผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางเป็นหลักในการตรวจสอบได้ครับ  
 
 
     3.2 ผลการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนในด้านทักษะความสามารถ ในรายละเอียดคือ การประเมินผู้เรียนในการอ่าน คิด วิเคราะ์และเขียน เกณฑ์คือต้องผ่าน เราก็ระบุว่า ผ่าน พร้อมทั้ง เล่าให้เห็นร่องรอยหรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีความสามารถในการ อ่าน คิด วิเคราะห์ เหมาะสมตามวัย
 
     3.3  ผลการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนในด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางมี 8 ข้อ คือ 1) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์  2) ซื่อสัตย์สุจริต 3) มีวินัย 4) ใฝ่เรียนรู้ 5) อยู่อย่างพอเพียง 6) มุ่งมั่นในการทำงาน 7) รักความเป็นไทย 8  มีจิตสาธารณะ เกณฑ์คือต้องผ่าน เราก็ระบุว่า ผ่าน พร้อมทั้ง เล่าให้เห็นร่องรอยหรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ที่เหมาะสมตามวัย
 
     ถึงตรงนี้น่าจะถือว่ารายงานก็เกือบเสร็จแล้ว ที่หัวข้อที่เหลือก็ฟรีไสตล์ ใครอยากบ่น อยากคุยอะไร ก็เล่าไป ถ้าเขียนไม่ออกแนะนำว่า ให้คิดว่าอยากให้ใครอ่านรายงานหัวข้อนี้ แล้วนึกถึงคนนั้น แล้วก็เขียนเล่าให้เขาฟัง อาจจะเป็นลูกเราตอนโต อาจจะเป็น จนท.เขตที่ช่างไม่เข้าใจเราเลย หรือจะเป็นพ่อแม่ของเรา (ปู่ย่าของหลาน) หรือจะทบทวนตัวเองก็ได้ ถือเป็นเทคนิคที่ช่วยทำให้เขียนงานขึ้นวิธีหนึ่ง
 
สุดท้ายตัวอย่างรายงานที่ผมทำให้ลูก อยู่ที่นี่ มันอาจจะดูเยอะสำหรับบางคน แต่เอาจริง ๆ ตัวรายงานมีแค่ 20 หน้า ผมพยายามทำลองให้เป็นตัวอย่าง เลยพยายามจัดเต็ม คนอื่นอาจจะไม่ต้องเยอะขนาดนี้ ให้ครบถ้วนเห็นภาพก็พอ แอบได้ยินเจ้าหน้าที่บอกว่า เอาแค่กิจกรรมเด่น ๆ ก็พอ 
 
ผมก็ขอจบภาคปฎิบัติการเขียนรายงาน ณ ตรงนี้เลย ถ้ามีโอกาสอาจจะมาเพิ่มภาคทฤษฎีต่อนิดหน่อยครับ 

ปล. ที่เล่ามาถือเป็นแนวทางหนึ่งที่หวังว่าจะช่วยทำให้การเขียนรายงานง่ายขึ้น แต่ละคนอาจจะมีเทคนิคต่างกันไปครับ รายงานของผมและฟอร์มนี้ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่อ่านด้วย ได้ comment กลับมาบ้างผมก็เพิ่มเติมไปเท่าที่ได้ ซึ่งถึงเวลาจริง ๆ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เป็นมาตรฐานได้ แต่รีบเอาขึ้นให้อ่านกันก่อนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่ต้องเขียนรายงานในปีนี้แต่ยังไม่ได้เขียนครับ

รายงานผลการจัดการศึกษาบ้านเรียนเปื้อนฝุ่นปี 2558 (ชัั้นป.1)

ายงานผลการจัดการศึกษาบ้านเรียนพราวปี 2558 (ชั้นป.1)


by Patai on Mar 19, 2016

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง