บันทึกการเรียนรายงานบ้านเรียนเปื้อนฝุ่นปี 2
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
การเขียนรายงานปีที่ 2 นี้มีเรื่องตื่นเต้นเล็กน้อย คือ ด้วยความภูมิใจ ในที่สุดผมก็สามารถหาวิธี กรอกความเป็นจริงลงบนแบบฟอร์มที่ชักชวนให้เราโกหกได้ บางทีเรื่องง่าย ๆ ก็ใช้เวลาถึง 2 ปีเชียว

คือตั้งแต่ลูกอยู่อนุบาล ผมก็เห็นเพื่อนบ้านเรียนรุ่นพี่ ปวดหัวกับการกรอกคะแนน เห็นอนาคตว่าต้องคอยทะเลาะกับเจ้าหน้าที่เรื่องคะแนนลูก ซึ่งก็จริง ตอนลูกขึ้นประถมก็เห็นมีเพื่อนบ้านเรียนมีปัญหากับเจ้าหน้าที่เรื่องคะแนนอยู่เรื่อย ๆ หลายพื้นที่ ตอนเขียนแผนก็เลยเขียนแบบให้คะแนนเป็น 2 ระดับคือ ผ่านกับไม่ผ่าน แต่ความกังวลของเจ้าหน้าที่ก็ยังตามมาหลอกหลอน อยากให้เลขฐาน 2 ผมมีลักษณะเป็นเลขฐาน 5 ผมก็ไม่อยากให้เค้ากังวลมากเลยหาวิธีการให้

ผลจากการคิดออกก็คือลูกได้ 100 คะแนนเต็มและได้ 4 เต็มทุกวิชา โดยที่ผมไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจใด ๆ เลย ด้วยการนำข้อความนี้ไปใส่ในรายงาน


เนื่องจากปรัชญาการจัดการศึกษาโดยครอบครัวของบ้านเรียนเปื้อนฝุ่นเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ จึงไม่ให้ความสำคัญกับคะแนน ดังจะเห็นได้จากแผนการเรียนที่ให้ผลการเรียนเป็น 2 ระบบ คือ “ผ่าน” กับ “ไม่ผ่าน” และสิ่งเหล่านี้ยังปรากฎอยู่ในการจัดการเรียนการสอน ที่ไม่มีการสอบเก็บคะแนน ทุกๆ พัฒนาการจึงเกิดจากการสังเกต บันทึกในรายละเอียดของผู้เรียน ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ “การวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน” มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม “การประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน” ตามความประสงค์ของสำนักงานเขตและแบบฟอร์มบันทึกสรุปผลการศึกษาที่มีช่องให้ระบุคะแนน ทั้งนี้เผื่อให้คะแนนมีความถูกต้องตามความเป็นจริงและสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษา โดยมิได้มีการปั่นแต่งตัวเลข ทางผู้จัดจึงแทนค่า “ผ่าน” ด้วยคะแนน 100 และ “ไม่ผ่าน” ด้วยคะแนน 0
ทั้งนี้ผู้จัดการศึกษาตระหนักดีถึงมาตรฐานการศึกษา ที่หลักสูตรแกนกลางมีความประสงค์ให้สามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ แต่ด้วยการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง มีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ทำให้แผนการจัดการศึกษามีความแตกต่างจากการศึกษาในระบบเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการเทียบโอนจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาโดยละเอียด ทั้งนี้การพิจารณาการเทียบโอน ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรแกนการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระบุไว้ดังนี้
1. พิจารณาจากหลักฐานการศึกษา และเอกสารอื่น ๆ ที่ให้ข้อมูลแสดงความรู้ ความสามารถของผู้เรียน
2. พิจารณาจากความรู้ ความสามารถของผู้เรียนโดยการทดสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งภาคความรู้และภาคปฏิบัติ
3. พิจารณาจากความสามารถและการปฏิบัติในสภาพจริง
ซึ่งทางผู้จัดการศึกษาและผู้เรียนมีความพร้อมในการดำเนินการตามหลักการทั้ง 3 ข้อดังกล่าว

ผมเชื่อว่าบ้านที่เขียนการให้คะแนนแบบ เกรด 1-4 ก็สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ เพราะถ้าเราไม่ได้ให้คะแนนจริง ๆ ตัวเลขมันจะมาได้อย่างไร ในความเห็นผมการกรอกข้อมูลแบบนี้ตรงกับความเป็นจริงมากกว่าที่เราจะกรอกคะแนนโดยไม่มีหลักการหลักฐานรองรับ เพียงแต่ว่าคนที่เอาไปใช้ต่อ ก็ต้องละเอียดพอ ตามมาดูพัฒนาของเด็กที่เราบันทึกไว้ ดูหมายเหตุคำอธิบายของเรา

แต่ถ้าบ้านไหนมีการทำแบบทดสอบ มีเกณฑ์การให้คะแนนอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหานะครับ ก็นำมารวมกรอกคะแนนกรอกเกรดได้เลย

อย่างไรก็ตามในความคิดผม การทำตามแนวทางนี้ใช้ได้ดีในระดับประถม ในระดับมัธยมอยากให้ศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจาก

1) ระดับประถมในหลายประเทศเค้าจะไม่เน้นให้เกรด ให้คะแนนเด็ก เน้นพัฒนาตามศักยภาพ
2) ผมเช็คคราว ๆ กับการรับสมัครของโรงเรียน อย่างสาธิต ม.ช. เค้าต้องการใบ ปพ. แต่ไม่ได้ระบุเกรดขัดต่ำแต่อย่างไร ซึ่งเด็กได้เกรด 4 หมดก็ไม่ได้มีผลมากน้อยกับการสมัครสอบ
3) สำหรับมัธยม หรือการเข้าเรียนต่อในโรงเรียน/มหาวิทยาลัยที่ ระบุเกรดขั้นต่ำ 3.1) การใช้แนวปฎิบัติเช่นนี้ ผมมีความรู้สึกไม่ยุติธรรมกับเด็กที่เรียนในระบบอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเกรดขั้นต่ำดังกล่าว ผมมีความคิดว่าเด็กทุกคนควรจะได้โอกาสเท่า ๆ กันในการเข้าสอบ เพราะสุดท้ายมันก็วัดกันที่คะแนนสอบอยู่ดี จะไปกีดกันเด็กตั้งแต่ต้นทำไม การสอบด้วยข้อสอบก็สามารถรองรับเด็กเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว 3.2) ลูกผมยังเรียนในระดับประถม ผมยังไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเกรด ต่าง ๆ จะมีผลกระทบอะไรอย่างไรอีก เลยแนะนำว่าในระดับมัธยมหากจะใช้แนวทางนี้ควรศึกษาเพิ่มเติมครับ

นอกจากเรื่องคะแนนแล้ว ที่อยากคุยให้ฟังก็คือ ปีนี้ผมใช้เวลาเขียนรายงานน้อยลงมาก ความหนาน้อยลง รวมเวลาทั้งหมดน่าจะประมาณแถว ๆ 8 - 10 ชั่วโมง เนื่องจากมีโครงเดิมอยู่แล้ว และเก็บเรื่องราวของลูกอยู่เรื่อย ๆ แต่เทคนิคสำคัญที่ผมอยากแชร์ให้พังก็คือ จริง ๆ พัฒนาการลูกในแง่หนึ่งมันคล้าย ๆ กับการขี่จักรยาน คือถ้าทำได้แล้ว มันก็ควรจะทำได้ไม่ว่าตอนไหนเมื่อไหร่ ดังนั้น ระหว่างปีสิ่งสำคัญที่เราควรบันทึกทุก ๆ 3 - 4 เดือนคือ ตารางชีวิตประจำวัน ส่วนเรื่องพัฒนาการ ถ้าเรามีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ช่วงใกล้เขียนรายงาน บางทีมีแค่เรื่อง 2 เรื่อง ก็สามารถอธิบาย พัฒนาการที่ลูกเป็นอยู่ได้หลายมิติ หลายด้าน อย่างของสีฝุ่นปีนี้ผมก็เน้นเรื่องการทำของไปขายที่ coop เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงกระบวนการคิด วางแผนที่ชัดเจนมีรายละเอียดของเด็กคนหนึ่งเลยทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งก็เกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงเรียน 1000 สำหรับประถม เพราะมันขึ้นลงตามนโยบาย (ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้) บางปีไม่เกิน บางปีไม่น้อย กว่า 1,000.- บาท เปลี่ยนกันปีต่อปีเลยทีเดียว เพื่อความสะดวก ไม่งง ไม่แก้บ่อย ใส่ให้ได้ 1000 ต่อปี ง่ายสุด

ที่เหลือก็ไม่มีอะไรแล้วครับ มีแต่ รายงานของสีฝุ่นตอนประถม 2 ปีการศึกษา 2559 ให้ลองอ่านพิจารณา และหากมีอะไรก็เสนอแนะกันได้เลยครับ


by Patai on Mar 17, 2017

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง