สรุปงานถอดบทเรียนบ้านเรียนภูเก็ตเมื่อ 4-5 สิงหาคม 2555
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
เอกสารที่ถอดจาก โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาโดยครอบครัว วันที่ ๔-๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ.ห้องประชุม ๑ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต

ถอดบทเรียนบ้านเรียนภูเก็ต, เด็กบ้านเรียนเล่นแป้งโดว์ สพฐ. ภูเก็ต

บ้านเรียนที่ภูเก็ตเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เริ่มต้นจาก 1 ครอบครัว จนกระทั่งปัจจุบันเกือบ 10 ครอบครัว เราจึงจัดงานถอดบทเรียนบ้านเรียนภูเก็ตขึ้น โดยหวังว่า จะได้ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในแต่ละครอบครัว ที่เป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อมั่น ในการทำบ้านเรียน และ หากเป็นไปได้ ก็อยากจะได้ เหตุผล ว่า ทำไมต้องบ้านเรียน บ้านเรียนเพื่ออะไร บ้านเรียนคืออะไร
ผลการสรุปประชุมถอดบทเรียนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว จ. ภูเก็ต
วันที่ ๔-๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต

เก็บปูแหลมตุ๊กแก, งานถอดบทเรียนบ้านเรียนภูเก็ต, เด็กๆ บ้านเรียน, homeschool
 
จุดแข็ง (Strenght) ของบ้านเรียนภูเก็ต
1. บ้านเรียนมิใช่แค่เพียงการจัดการศึกษา แต่ “เป็นวิถีชีวิต” วิถีของการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์หลายๆอย่าง  ได้แก่
๑.๑ ความยืดหยุ่น  ไม่ถูกกดทับอยู่ด้วยระบบ ระเบียบ กฏเกณฑ์ แบบแผนต่างๆ ครอบครัวหนึ่งลูกมีปัญหาสุขภาพมาก แต่ก็สามารถจัดการศึกษาควบคู่ไปกับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดได้
๑.๒ สัมพันธภาพ พ่อแม่ลูกได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด  “มีการพูดคุยปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องเสมอ”
๑.๓ การเรียนรู้มาจากแรงบันดาลใจจากตัวของผู้เรียนเอง เด็กจึงสนุกที่จะเรียนรู้ มีความสุขในการเรียนรู้ มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง การทำบ้านเรียนต้องบ่มเพาะให้เด็กรักที่จะเรียนรู้ เมื่อเขารักที่จะเรียนรู้ เขาก็จะมีความสุขในการเรียนรู้ ในการอ่านการเขียนด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง “เด็กๆมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เราไม่ต้องสอนลูก ลูกอยากจะเรียนเอง เมื่อเขามีความพร้อม เขาจะขอเรียนเอง เราไม่ใช่ผู้รู้ เราเป็นเพียงผู้จัดการ ผู้อำนวยความสะดวกให้ลูก “ “เวลาของเขามีเหลือเฟือ ไม่มีใครมาบังคับว่าหมดเวลาแล้วนะ ต้องเลิก”
๑.๔ การเรียนรู้ร่วม ทุกคนในครอบครัวจะเป็นทั้งผู้เรียน ผู้สอน “บางครั้งลูกจะนำทางเราในการเรียนรู้” “ไม่ใช่เราจะใส่(จัดการศึกษา)ให้ลูกได้อย่างเดียว ลูกจะเป็นแบบฝึกหัดให้เราด้วย”  “ไม่ใช่เราจะสอนเขาเสมอไป บางทีเขาก็มาสอนเรา บ้านเรียนไม่มีวันหยุด เสาร์-อาทิตย์เรียนรู้ได้ตลอดเวลา” “เป็นการแสวงหาสิ่งที่ดีๆมาให้ลูก พ่อแม่เข้าไปเรียนรู้ พบสิ่งดีๆ ทบทวน ใคร่ครวญแล้ว มาถ่ายทอดให้ลูกต่อ”  “ในขณะที่เราเห็นพัฒนาการของลูก ทำให้เราสะท้อนคิด ส่งผลให้เราเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน “เด็กโดยธรรมชาติจะมีความกล้าหาญมากกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่จึงต้องเรียนรู้เรื่องความกล้าหาญจากลูก”
๑.๕ เป็นการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวม บ้านเรียนจึง “ตอบสนองต่อชีวิตมากกว่า” เพราะเป็นการเรียนรู้ในทุกๆมิติของชีวิต “บ้านเรียนนั้นเป็นการพัฒนาทั้งความรู้+คุณธรรมภายในตัวลูก”  “การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำให้ลูกเห็น”   “เป็นการพัฒนาความรับผิดชอบและความมีวินัยในตัวเอง”
๑.๖ เน้นการพึ่งตนเอง  “พยายามช่วยตัวเอง ด้วยการหาข้อมูล ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นทางเลือก-ทางออกในการจัดการศึกษาให้แก่ลูก”
 
2.  งานใจกลางของบ้านเรียน คือ  การฟูมฟัก การพัฒนาความรัก ความกรุณา/ความโอบอ้อม อารี และมิตรภาพ ทั้งภายในครอบครัว และชุมชนของบ้านเรียนด้วยกัน
“การสื่อสารด้วยความไว้วางใจภายในครอบครัวมีมาก เพราะใกล้ชิดกัน ลูกกล้าพูด กล้าบอกเรื่องราวต่างๆกับพ่อแม่”
“การมีศิลปะในการเชื่อมประสานระหว่างบ้านเรียนกับองค์กร,หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความรัก ความเข้าใจ ความร่วมมือ การมีส่วนร่วม โดยมีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง”
“การมีกลุ่ม การสร้างกลุ่มที่มีกัลยาณมิตรมาช่วยสนับสนุน”
3. บ้านเรียนให้คุณค่า และเคารพในความแตกต่าง หลากหลายของมนุษย์
“การเอื้อให้ลูกได้พัฒนาตัวตนที่เขาได้เลือกและเชื่อ  และเราเดินทางร่วมไปกับเขา”
“เด็กนั้นแตกต่างหลากหลาย ไม่เหมือนกันเลย  เด็กแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง”
“การทำบ้านเรียนจะให้ลูกเลือก-ตัดสินใจเอง จะเป็นอะไร  เราแค่ให้ข้อเสนอแนะไป เด็กๆจะเป็นคนกำหนดเอง
4. เป้าหมายสำคัญของบ้านเรียนนั้นเป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือเติมเต็มตัวตนความเป็นมนุษย์ให้    
สมบูรณ์ขึ้น มิใช่เพียงเรียนรู้เพื่อให้ได้องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว เช่น  การเปลี่ยนแปลงระบบอำนาจนิยมภายในครอบครัว
“การเรียนรู้ของบ้านเรียนเป็นการเรียนรู้แบบไม่รู้ หรือไม่ยึดติดกับความรู้  คนที่ไม่ยึดติดกับความรู้จะอ่อนน้อม น่ารัก พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา”
“การทำบ้านเรียนนั้นจะเน้นการแก้ปัญหา(เปลี่ยนแปลง)ไปจากตัวเองก่อนที่จะไปแก้(เปลี่ยนแปลง)คนอื่น”
“การทำบ้านเรียนต้องอดทน การดุ ใจร้อน ช่วยอะไรไม่ได้ มีแต่ต้องฟังลูกมากขึ้น”
“ถ้าเราใส่ใจลูกเพียงพอ เขาก็จะไม่ติดทีวี เล่นเกมส์ และลูกจะเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่เป็น พ่อแม่ทำ เช่น ถ้าพ่อแม่อ่านหนังสือ ลูกก็จะอ่านหนังสือด้วย”
“การทำบ้านเรียนมันเหมือนการปลุกวิญญาณความเป็นแม่(และพ่อ)ให้กระชุ่มกระชวยขึ้น”
“การทำบ้านเรียนเสมือนการปลุกความเป็นเด็กในตัวพ่อแม่ให้กลับคืนมาอีกครั้ง”
 
ข้อจำกัด/อุปสรรค/จุดอ่อน (Weakness)ของบ้านเรียนภูเก็ต
1. คนรอบข้าง/คนในครอบครัว ยังไม่เข้าใจเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว
2. ค่านิยมของสังคมที่สนใจ-ให้คุณค่าเฉพาะการศึกษาที่เน้นการแข่งขันทางวิชาการ/ความจำ
3. หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนบ้านเรียนค่อนข้างเคร่งครัด ยึดกุมกฎระเบียบมากไป
4. ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัวยังมีอยู่น้อย
5. พ่อแม่ลูกยังไม่ค่อยมั่นใจจากการที่สังคมรอบข้างกดดันหรือตั้งคำถาม
6. ยังมีเพื่อนที่จัดบ้านเรียนน้อย จึงค่อนข้างโดดเดี่ยว และขาดการหนุนช่วยกัน
7. ลูกวัยเล็ก(อนุบาล)ต้องการเพื่อนเล่น แต่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้
8. พ่อแม่มีงานอาชีพต้องทำจึงอาจจะจัดสรรเวลาให้ลูกไม่เพียงพอ
9. พ่อแม่หวังจากลูกมากเกินไป
10. ลูกอยากได้เพื่อน แต่เพื่อนต้องไปโรงเรียน
11. การเปลี่ยนแปลงด้านเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบบ้านเรียนของ สพป.บ่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจในบ้านเรียนอย่างต่อเนื่อง
 
โอกาสของการพัฒนาบ้านเรียน (Opportunity)
1. การรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาให้เกิดความชัดเจนในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพมากขึ้น
2. เด็กที่เคยไปโรงเรียนมาก่อนบางคนจะไม่อยากกลับไปโรงเรียนอีก  ความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตนเองก็จะมีอยู่สูง
3. เมื่อมีเวทีเรียนรู้/กิจกรรมที่ไหนที่ลูกสนใจ ก็จะหาลูกไปเข้าร่วม มีกิจกรรมที่หลากหลายซึ่งเหมาะกับลูก  ส่วนหนึ่งก็ทำให้ลูกมีเพื่อนในวัยเดียวกันด้วย
4. การปรึกษาหารือ-สื่อสารกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (สพป.,สพฐ. ฯ)ในเรื่องของข้อจำกัด, ความต้องการ ฯ เพื่อก่อให้เกิดความยืดหยุ่น/ความเข้าใจ/การสื่อสารอย่างมีคุณภาพ และบ้านเรียนจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเหมาะสมด้วย
5. บ้านเรียนจะมีการประเมินเป็นระยะๆ ทำให้ครอบครัวต้องปรับตัวเองอยู่เรื่อยๆ
6. การมีโอกาสได้พบปะกับคนในหลากหลายรูปแบบ หลายวัย-เชื้อชาติ
7. บ้านเรียนจะเน้นการเรียนรู้จากภายใน การบ่มเพาะให้จิตใจมีความรัก ความเมตตา ซึ่งจะส่งผลไปสู่การมีศิลปะในการเชื่อมประสานกับคนอื่นๆได้มากขึ้น
8. การเขียน การบันทึกในสิ่งที่เราเรียนรู้ ทำให้เราได้ทบทวน ใคร่ครวญตัวเองว่า ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง
9. นอกเหนือจากที่พ่อแม่พาไปหาผู้รู้,แหล่งเรียนรู้ต่างๆแล้ว ลูกก็จะแสวงหาผู้รู้,แหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองด้วย
10. การActingตัวเองของพ่อแม่ในฐานะของครูคนหนึ่ง,ผู้รู้ที่ใกล้ชิดอยู่กับลูก  เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
11. พ่อแม่จะต้องประมวลออกมาให้ได้ว่าอะไรบ้างที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย (ซึ่งมิใช่เพียงวิชาความรู้)
12. ความร่วมไม้ร่วมมือกันของบ้านเรียนภายในกลุ่ม (เช่น การตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาฯและผู้ทรงคุณวุฒิ) จะเอื้อให้ การพัฒนาการเรียนรู้ของบ้านเรียนโดยรวมลื่นไหล มีคุณภาพมากขึ้น
13. นอกจากเขตพื้นที่การศึกษาฯแล้ว  เราอาจจะไปลงเรียนกับ กศน.ก็ได้ ซึ่ง กศน.เองก็จะเปิดกว้างพอสมควร  เพราะผ่านไปครึ่งปีแล้วส่งแผนเขาก็ยังรับเลย (มีความยืดหยุ่นสูง)
14. การบูรณาการ การจัดสรรปรุงแต่งสาระให้สอดคล้อง เหมาะสม กลมกล่อมระหว่างมิติของชีวิตและวิถีของครอบครัว กับสาระทางวิชาการที่ควรรู้เพื่อให้ลูกมีวุฒิภาวะและความรู้อย่างสมวัย
 
ภารกิจของบ้านเรียนภูเก็ต (Task)
1. การจัดสรรเวลาที่จะอยู่กับลูก เรียนรู้/เล่นร่วมกับลูกมากขึ้น
2. การจัดทำ-นำเสนอแผนการเรียนของผู้เรียน(ลูก)ต่อคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต
3. พ่อแม่มีบทบาทที่จะอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ไม่ใช่ผู้สอน
4. การร่วมเรียนรู้ไปกับลูก การเรียนรู้ที่มิใช่การสะสมความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง
5. การแสวงหาแหล่งเรียนรู้/ผู้รู้ ในหลากหลายมิติของการเรียนรู้
6. การสร้างความมีชีวิตชีวา ความสดชื่นให้กับการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสนุก และมีความสุขในการเรียนรู้ (เพื่อดึงลูกออกมาจากการขลุกอยู่กับทีวี และเกมส์คอมพิวเตอร์)
7. หากจะเป็นการสอน ก็ต้องควบคู่กับการเป็นให้ดู อยู่ให้เห็น หรือการเป็นแบบอย่าง เช่น ถ้าพ่อแม่รักการอ่าน อ่านหนังสืออยู่เสมอ ลูกๆก็จะเจริญรอยตามพ่อแม่เช่นเดียวกัน
8. การจัดตั้งกลุ่มดูแลช่วยเหลือกันระหว่างบ้านเรียนด้วยกัน ทั้งทางวิชาการ ชีวิตจิตใจ และความเป็นอยู่ทั่วไป
9. การแต่งตั้งคณะทำงานวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัวร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯภูเก็ตและผู้ทรงคุณวุฒิ   ซึ่งจะทำหน้าที่ทั้งการแนะนำ พัฒนา กลั่นกรอง พิจารณา แผนการเรียนรวมไปทั้งการติดตาม นิเทศและประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง
 
อ่านรายละเอียดเต็มได้ที่ สรุปงานถอดบทเรียนบ้านเรียนภูเก็ตเมื่อ 4-5 สิงหาคม 2555