เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ โดย ชาตรี สำราญ
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
คิดว่าเป็นคำนำ
ในเวลาที่ว่างเปล่าอย่างเงียบๆ อยู่ในห้องคนเดียว   มองเห็นความคิดของตนโสดเล่นไม่ขาดสาย    จึงจับมันมารวมเป็นเล่ม   “เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ”   จึงกลายเป็นหนังสือเล่มนี้   ตั้งใจที่จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ตบางตอน   ขณะที่ไปพักผ่อนที่นั้นที่บ้านของลูกชาย   คิดว่าบางอย่างในหนังสือเล่มนี้คงจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านโดยเฉพาะพ่อแม่ที่คิดจะสอนลูกที่บ้านบ้างไม่มากก็น้อย    จึงตั้งใจเขียนแต่ก็ทำได้เพียงแค่นี้แหละ
หวังไว้ว่าคงจะมีเสียงตอบรับและร่วมคิดเพิ่มอีก
                                                                                                                                ชาตรี  สำราญ
                                                                                                                                  31 / 12 /55 [break]
เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อ ปองภพ  
      1        
ใช่ครับ ผมกำลังเล่าเรื่องของเด็กคนนั้น เด็กคนนั้น คนที่ชื่อ ปองภพ
ผมสังเกตพฤติกรรมการเรียนของปองภพมาตั้งแต่เขาอายุ 2 ขวบ (ปัจจุบัน 7 ขวบ )   ผมเห็นความน่าสนใจที่แฝงเร้นอยู่ใน ปองภพ ที่พอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้   เป็นการเรียนว่ายน้ำ   ขณะที่พี่สาวทั้ง 2 คนของปองภพ   ฝึกว่ายน้ำกับครูฝึกสอน   ปองภพจะนั่งดู   พอสระว่าง   ปองภพกระโดดลงไปว่ายน้ำ   เขาจมน้ำลงไปแล้วโผล่ขึ้นมา   ตระกายน้ำจนกระทั่งว่ายน้ำได้   แล้วต่อมาท่าว่ายน้ำแบบแปลกๆ  ปองภพก็คิดขึ้นมาแสดงให้พ่อแม่ที่ดูปองภพเรียนรู้การว่ายน้ำด้วยตัวของเขาเอง
ปองภพชอบดูหนังการ์ตูน   แต่การดูการ์ตูนของปองภพก็มีประโยชน์   เพราะพอดูเสร็จ  ปองภพจะสรุปว่า   “ตัวนั้นเป็นตัวร้าย   ตัวนั้นเป็นตัวดี”   พอถามว่าร้ายอย่างไร   ดีอย่างไร   เขาก็จะอธิบายได้อย่างมีเหตุผล   ปองภพมีพฤติกรรมการดูเป็นที่ผมกล่าวว่า  ปองภพ ดูเป็น  นั้นเพราะลักษณะอาการหลังการดู  ปองภพแสดงให้เห็นว่า   เขาไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ดู   แต่เขาดูแล้วสามารถตีความสิ่งที่ดูได้   นี่คือ   พฤติกรรมของเด็กไทยที่รัฐพึงประสงค์   รัฐได้ระบุไว้ในหลักสูตรแกนกลาง   การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ว่า
“ สาระที่ 3      การฟัง   การดูและการพูด ”
   มาตรฐาน ท.3.1.    สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณและพูดแสดงความรู้                     
                                  ความคิดและความรู้สึกในโอกาสต่างๆอย่างมีวิจารณญาณและ
                                  สร้างสรรค์  
เราจะเห็นได้ว่ารัฐมีความต้องการที่จะให้เด็กไทยเรานี้มีทักษะหรือพฤติกรรมในเรื่อง
1.             สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ
2.             สามารถพูดแสดงความรู้   ความคิด   และความรู้สึกในโอกาสต่างๆอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์
                นี่คือ มาตรฐานใหญ่หรือจุดประสงค์ปลายทางที่สถานศึกษาจะต้องพัฒนาผู้เรียนที่เรียนจนจบ ม.6 แล้วจะต้องมีทักษะ ความสามารถ  หรือพฤติกรรมดังกล่าวข้างตน  โดยครูฝึกสอน ผู้เกี่ยวข้องต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และตัวผู้เรียนเองจะต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้ตามขั้นตอนของระดับชั้นเรียนที่หลักสูตรแกนกลางระบุไว้ใน ตัวชี้วัด แต่ละชั้นเรียน เช่น ชั้น ป.1 ตัวชี้วัด    
 
 ตัวชี้วัด        ชั้น ป.1
1.             ฟังคำแนะนำ   คำสั่งง่ายๆ  และปฏิบัติตาม
2.             ตอบคำถามและเล่าเรื่องที่ฟังและดูทั้งที่เป็นความรู้และความบันเทิง
3.             พูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู
4.             พูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์
5.             มีมารยาทในการฟัง การดูและการพูด  
เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ครูผู้สอน ผู้ปกครอง พ่อแม่ ที่จะเป็นผู้สอนเด็กๆนั้นจะต้องเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ดังนี้
1.             เตรียมคำแนะนำ คำสั่งง่ายๆ เพื่อนำสอนให้ผู้เรียนฟัง ปฏิบัติตาม
2.             เตรียมคำถาม   เตรียมเรื่องที่จะเล่าและดู  พร้อมคำถามและภาพประกอบเพื่อผู้เรียนฟัง   แล้วตอบคำถามจากเรื่องที่ฟังและดู  ทั้งนี้คำถามและเรื่องเล่าจะต้องเป็นความรู้และความบันเทิง
3.             เพื่อผู้เรียนฟังเรื่องที่เล่าพร้อมคำถามแล้วผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู
4.             เตรียมประเด็นให้ผู้เรียนได้สื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์
5.             เตรียมกติกามารยาทในการฟัง  การดู  และการพูด
                การที่จะฝึกให้ผู้เรียน เกิดทักษะด้านการฟัง   พูด  และดูได้จริงนั้นไม่ใช่ว่าจะเรียนเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องจะต้องฝึกอย่างต่อเนื่องแบบ
ฝึกหัด
â
ฝึกฝน
â
ฝึกปรน
â
ฝึกปรือ
นั่นคือจะต้องฝึกแล้วฝึกอีกในทักษะนั้นๆ  แต่เรื่องราวที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ไม่ซ้ำเรื่อง   เรื่องที่ผู้สอนจะสรรหามาเล่าหรือมาให้ผู้เรียนดูต้องแปลกใหม่และเร้าใจผู้เรียน  ให้ผู้เรียนเกิดอาการอยากเรียนไม่ใช่ต้องเรียนเพราะผู้เรียนจะเรียนรู้เมื่อเขาอยากเรียนรู้
สิ่งที่ผู้ฝึกสอนพึงตระหนักคือ   เด็กที่เพิ่งเริ่มเรียนนั้นเขายังไม่รู้   ผู้สอนจะต้อง ฝึกให้พวกเขารู้   คือ
1.             ฝึกวิธีการฟังคำแนะนำ  ฟังคำสั่งง่ายๆ  แล้วปฏิบัติตาม
2.              ฝึกการตอบคำถาม
3.             ฝึกการเล่าเรื่องจากการฟังและดู
4.             ฝึกการพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู
5.             ฝึกการพูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์
6.             ฝึกมารยาทในการฟังการดูและการพูด
จงเปิดโอกาสให้เด็กผู้เรียนพบความสำเร็จด้วยการลงมือทำ”
 
ปองภพประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 2 ขวบ   ที่นั่งดูพี่สาวว่ายน้ำ   พอมีโอกาสเขาก็กระโดดลงไปว่ายน้ำด้วย   เริ่มต้นก็จมน้ำ  กินน้ำ  ตะเกียกตะกายแหวกน้ำขึ้นมา  จนในที่สุดก็ว่ายน้ำได้   ปองภพว่ายน้ำได้ด้วยการดูแล้วปฏิบัติ   ดังได้กล่าวมาแต่ต้น
                นอกจากว่ายน้ำ  ปองภพ  ยังเรียนรู้จำนวนนับได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบกว่า   วิธีการเรียนรู้ของปองภพ ตรงตามรูปแบบ Play & Learn อย่างแท้จริง
                ได้กล่าวมาแต่ต้นบทแล้วว่า ปองภพ ชอบดูหนังการ์ตูนและหนังสือการ์ตูน เขาดูจนจำชื่อตัวละครการ์ตูนเหล่านั้นได้   เพราะปองภพดูแล้วดูอีกดูซ้ำๆ จากแผ่น DVD และหนังสือการ์ตูน   จนกระทั่งบริษัทผลิตตุ๊กตาตัวการ์ตูนเหล่านั้นมาวางจำหน่าย   ปองภพก็อยากได้   แต่การจะได้มาซึ่งตุ๊กตาเหล่านั้นไม่ง่ายสำหรับปองภพ   เพราะกติกาที่พ่อแม่เขาวางไว้คือ
1.             ต้องเล่าเรื่องราวของตัวละครนั้นได้
2.             จะซื้อจำนวนเท่าไร  บอกให้ชัดเจน  นับให้ถูกต้อง  กติกาข้อที่ 1 ก่อนจะไปซื้อตุ๊กตา  ปองภพต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวของตุ๊กตาแต่ละตัว  แล้วเล่าเรื่องราวนั้นๆ ให้ฟัง
คำถามที่พอจะจำได้  เช่น
1.             ตุ๊กตาตัวนั้นชื่ออะไร   มีบทบาทสำคัญอย่างไร  ในเรื่องนี้ตอนนี้
2.             ตุ๊กตาตัวนั้นมีนิสัยอย่างไร   ทำไมจึงบอกว่ามีนิสัยอย่างนั้น
3.             ทำไมตุ๊กตาตัวนั้นจึงต้องทำอย่างนั้น
4.             ถ้าตุ๊กตาตัวนั้นไม่ทำอย่างนั้น   ควรให้เขาทำอย่างไร   ทำไมจึงให้เขาทำอย่างนั้น
5.             ถ้าตุ๊กตาตัวนั้นทำแบบ ปองภพ ว่า มันจะดีอย่างไร
จะเห็นได้ว่าเด็กน้อยต้องคิดแล้วคิดอีก   จึงตอบคำถามได้   ถ้าตอบพลาดโอกาสได้ตุ๊กตาช้าไปอีก   และเมื่อได้ตุ๊กตามาแล้วจะต้องบอกจำนวนตุ๊กตาที่เขามีอยู่   นั้นคือปองภพต้องเรียนรู้การนับจำนวน   จากจำนวนนับตุ๊กตา   เริ่มต้นก็นับได้ 1-10 พอ   จำนวนตุ๊กตาเพิ่มขึ้นจำนวนนับก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย   แต่ปองภพไม่เหนื่อยต่อการฝึกนับ   เพราะถ้านับคล่องตอบคำถามได้ก็ได้รางวัลตัวตุ๊กตาตัวใหม่เพิ่มขึ้น   ซึ่งก่อนอายุ 3 ขวบ  ปองภพมีตุ๊กตามากกว่า 300 ตัว   นั่นคือเขาก็นับจำนวนได้มากขึ้น   มากกว่าจำนวนตุ๊กตาที่เขามีอยู่เพราะเขาสนุกกับการเรียนรู้การนับจำนวนจากตุ๊กตา
                นอกจากนับจำนวนตุ๊กตาจาก 1-10-100 แล้ว  บรรดาตุ๊กตาเหล่านั้นสามารถนำมาสอน บวก ลบได้อีก  โดยพี่ๆ และแม่ของปองภพจะเล่นทายจำนวนตุ๊กตาที่นำมากองไว้ว่ามีกี่ตัว  พอเพิ่มเข้าไปอีกจำนวนหนึ่งรอมกันจะมีกี่ตัว
                ถ้าตอบผิด   ตุ๊กตากองนั้นจะเป็นของผู้ท้าย   เริ่มจากตุ๊กตามีอยู่ 1 ตัว  เพิ่มเข้าไปอีก 1 ตัว  จะมีตุ๊กตารวมกันกี่ตัว  เล่นทายอย่างนี้บ่อยๆ  ปองภพมักจะเป็นฝ่ายชนะ  จะมีตุ๊กตาเพิ่มมากๆ   มากจนปองภพสามารถคิดบวกลบในใจได้
                นอกจากตุ๊กตาแล้ว ยังมีตัวอักษร ก-ฮ   เป็นแผ่นไพ่ใบเล็กก็นำมาเล่นเกมเรียกชื่อตัวอักษรได้เช่นกัน
                ปองภพมักจะคิดเกมแปลกๆ มาเล่น   เกมส่วนใหญ่เป็นเกมที่เขาถนัด   เขาได้เปรียบ   เล่นแล้วปองภพต้องชนะ   แม่มักจะแพ้การเล่นเกม  แต่ชนะตรงที่ลูกอ่านออก  นับจำนวนได้
                มีเกมการชี้อ่านตัวอักษร ก-ฮ ที่น่าสนใจเกมหนึ่ง   เมื่อจับ ไพ่ได้อักษร บ  ผู้จับไพ่ได้ต้องอ่านออกเสียง บ ใบไม้   แล้วนึกคำมาประกอบ   ปองภพนึกเบ็นเท็น   บ่อยๆ   บางครั้ง   แต่พอไปเล่นตัวอักษร A-Z ปองภพ จับได้อักษร B   เขาจะบอกคำว่า  BEN TEN  BOY  BOW  เกมการเล่นอักษรบอกคำได้นี้  ช่วยให้ ปองภพมีบัญชีคำตุนไว้ในธนาคารความจำเขาไว้มาก   พอนำมาแต่งประโยคหรือสนทนากัน   ปองภพสามารถเข้าใจภาษาได้ไว   และต่อมาก็พัฒนาเป็นการอ่านเป็นคำๆ ได้เช่นกัน
                คุณสมบัติพิเศษของปองภพอีกอย่างหนึ่งคือ   เขามีทักษะการสังเกตดีมาก  มากพอๆ กับความจำ   ผมเคยทดลองนำตุ๊กตาของเขาไว้โดยไม่ให้เขาเห็นก่อน   แล้วเผยช่องว่างให้เห็นนิดๆ  ปองภพดูแล้วบอกได้ว่าตัวอะไร   ผลทดลองบ่อยครั้งมาก เขาไม่เคยตอบพลาดเลย เมื่อให้เขาบอกเคล็ดลับ   เขาจะชี้จุดเด่น   จุดเหมือน   จุดต่างของตุ๊กตาแต่ละตัวให้เราเห็นได้ชัดเจน   การจำลักษณะของตุ๊กตาที่ปองภพนำมาใช้กับการจำตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์   ปองภพสามารถบอกลักษณะเด่นของตัวละครทุกตัวในเรื่องรามเกียรติ์และแยกได้ว่า   ตัวไหนเป็นตัวดี   ตัวไหนเป็นตัวร้าย  เพราะเหตุผลใด   ปองภพชอบดูหนังเรื่องรามเกียรติ์มาก    แม้หนังสือเรื่องรามเกียรติ์ก็ชอบ   เขาจะซื้อทุกเล่มที่มีขายและสะสมการ์ตูนภาพตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ไว้ทั้งหมด  ว่างๆ จะมานั่งดูแล้วบอกว่านี่ตัวอะไร  ลักษณะเด่นอยู่ตรงไหน  นิสัยอย่างไร  แล้วในที่สุดปองภพก็อ่านชื่อตัวละครเหล่านั้นได้ทุกตัว   นี่คือจุดเด่นของเขาตั้งแต่อายุ 2 ขวบกว่า  แต่ปองภพมีปัญหาเรื่องเสียงเวลาเขาพูดเขาอ่านออกเสียง   เสียงจะเพี้ยนเหมือนกับชาวต่างชาติเริ่มฝึกอ่าน  พูดภาษาไทย  (แพทย์บอกว่าเป็นปัญหาตรงลิ้นมีพังผืดซึ่งผ่าตัดแก้ไขได้ตอนอายุย่างเข้า 7 ขวบ)
                นี่คือบางแง่มุมของเด็กคนนั้นที่ชื่อ ปองภพ
      2        
ความที่เป็นคนช่างสังเกตุของเด็กคนนั้นที่ชื่อ ปองภพ ก็มีผลดีต่อการอ่าน การเขียนของเขา   กล่าวคือ   เขาสามารถมองเห็นความต่างของคำหลายๆ คำที่เด็กหลายคนแยกไม่ออกแล้วทำให้เด็กเหล่านั้นเขียนผิด  เช่น ยาวกับวาย   ดาวกับวาด   การกับราน   บานกับนาบ   นวดกับดวน  และคำอื่นๆ อีก  แม้แต่คำว่า  เสร็จ   เด็กบางคนจะเขียน  เส็รจ  แต่ปองภพจะสังเกตเห็นจุดนี้   เขาจึงเขียนได้ถูกต้อง
                นี่คือคุณประโยชน์ของทักษะการสังเกตอีกอย่างหนึ่ง
                มีข้อที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ   ปองภพเรียนรู้วิธีการสังเกตจากการเล่นสนุกสนานต่อสิ่งที่เขาอยากรู้   เขาอยากรู้ถึงความแตกต่างของลิงแต่ละตัวในเรื่องรามเกียรติ์   เขาก็นั่งดู   นั่งวิเคราะห์   แยกแยะ   จนเห็นความต่างของสิ่งนั้นได้   แล้วเขาก็นำวิธีการเรียนรู้นั้นมาใช้ต่อๆ ไปเป็นการฝึกฝนทักษะการสังเกตนั่นเอง   นี่คือการเรียนปนเล่นวิธีหนึ่ง
                แม้ว่าปองภพจะอ่านหนังสือทั้งภาษาไทย  และภาษาอังกฤษออกเป็นคำๆ  แต่ทว่าปัญหาอยู่ที่ปองภพอายุ 3 ขวบแล้วยังพูดออกเสียงไม่ชัดเจน  คำว่า  หนึ่ง  ออกเสียงเป็น  หนื่อ  คำว่า  ได้  ออกเสียงเป็น  ล่าย  และคำทุกคำทั้งพูดทั้งอ่าน  ปองภพออกเสียงเพี้ยนหมดทุกคำ   นี่คือปัญหาของเขา  เมื่อไปโรงเรียนสิ่งแรกที่ครูพยายามทำคือ  ฝึกให้ปองภพพูดออกเสียงชัดเจน  ปองภพต้องออกจากโรงเรียน  เพราะโรงเรียนจะมีพฤติกรรม
1.             สอนให้ปองภพ นับ 1-10
2.             สอนให้ปองภพ อ่าน ก.ไก่ ข.ไข่
3.             สอนให้ปองภพ พูดออกเสียงชัดเจน
4.             สอนให้ปองภพ ระบายสีในกรอบที่วาดไว้
5.             สอนให้ปองภพ ลากเส้นตามเส้นประ
ทุกอย่างทำซ้ำซากโดยครูไม่สนใจว่า เด็กน้อยคนนี้
1.             นับได้เกิน 100
2.             บวก-ลบ ในใจเลขหลักเดียวได้
3.             อ่านหนังสือทั้งภาษาไทย-อังกฤษออกเป็นคำ
4.             วาดรูประบายสีได้ด้วยตนเอง
5.             เขียนหนังสือตามแบบเป็นคำๆได้
ถามว่าครูรู้ข้อมูลนี้ไหม รู้เพราะได้บอกกล่าวไว้แล้วแต่ต้องสอนตามแผนที่วางไว้และต้องสอนให้เหมือนกันทั้งชั้นเรียน ปองภพจึงต้องยื่นคำขาดกับพ่อแม่ว่าไม่ไปโรงเรียนจะเรียนที่บ้าน  (Home school)เหมือนพี่สาวภาระทั้งหมดตกอยู่ที่แม่ แม่จึงเป็นครูคนแรกและครูคนต่อไปของปองภพ
ความจริงไม่ใช่เรื่องยากในการเปิด  Home school  เพราะแม่ของปองภพสอนพี่สาวทั้ง 2 คนของปองภพมาแล้ว พี่สาวคนโตเรียนอยู่ที่บ้านจนจบ ม.3 ได้จึงเข้าเรียนต่อ ม.4 ของภาครัฐและพี่สาวคนที่ 2 ก็เรียนจนจบ ป.5 แล้วเข้าเรียนต่อ ป.6 ที่โรงเรียนเช่นกัน แต่สำหรับปองภพยากตรงที่เขาเป็นเด็กที่มีความคิดโตเกินวัย เป็นนักต่อรองตัวยงและเขาเป็นลูกคนเล็ก พี่มีอายุห่างจากพี่คนกลางถึง 7  ปี ทุกคนจึงเอาใจเขาปองภพเป็นเด็กพิเศษของบ้านหลังนี้
ที่ว่าปองภพเป็นเด็กนักต่อรองนั้นเห็นได้ชัดเจนเวลาเรียน ปองภพจะต้องบอกว่า “ถ้าอย่างนี้ต้องมีอย่างนี้ด้วย” เช่น ถ้าเขาตอบถูก 20 ข้อ พ่อต้องเลี้ยงไอศกรีมหรือจะขอเรียนเพียงครึ่งชั่วโมง แต่จะทำงานให้เสร็จจำนวน 5 ชิ้นงาน แทนการเรียนเต็มทั้งชั่วโมงเพราะจะไปเล่นกับเพื่อน ถ้าไม่ได้ดั่งใจเขาจะ         ร้องไห้งอแง  แต่พอยอมให้ปองภพยิ้มร่าทันที นี่คือปองภพเด็กคนนั้น
         
 
  
      3        
                มีอีกเรื่องหนึ่งของ ปองภพเด็กคนนั้นที่อยากจะเล่า คือเรื่องการทำเป็นไม่รู้ไม่สนใจ เรื่องทีอยู่ว่าพ่อของปองภพ มักจะเปิดแผ่นซีดีธรรมะให้ลูกเมียฟังเวลาว่างๆ มีธรรมะเรื่องหนึ่งที่เปิดบ่อยเรื่องการดูจิต พี่สาวของปองภพและแม่นั่งฟังกับพ่อ ส่วนปองภพจะเล่นตุ๊กตาของเขา ดูเหมือนว่าเขาไม่เคยสนใจฟังธรรมะนั้นเลย เพราะทุกครั้งที่เปิดธรรมะ ปองภพจะเล่นตุ๊กตาอย่างสบายใจ ไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับการเล่นของเขา เขาสนใจอยู่แต่การเล่น จับตัวนั้น วางตัวนี้ บางทีก็พูดกับตุ๊กตา คิดว่าปองภพคงไม่รู้เรื่องธรรมะที่เปิดอยู่ แต่วันหนึ่ง ปองภพขัดใจเรื่องอะไรจำไม่ได้แล้ว เขายืนร้องไห้ แม่บอกให้หยุดร้อง ปองภพพูดว่า      “ ลูกกำลังดูมัน มันกำลังร้องไห้ ” พอหยุดร้องไห้ปองภพพูดว่า “ มันดับแล้ว ” ทุกคนที่ตรงนั้นมองหน้ากันและพฤติกรรมอย่างนี้ ปองภพจะบอกให้รู้ว่าเขาดูจิต ทุกครั้งที่โกรธ ดีใจ ไม่พอใจ นี่คือเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเด็กคนนั้นที่ชื่อ ปองภพ ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เห็น
 
      4        
แล้วปองภพก็เรียนอยู่ที่บ้าน
แม่ของปองภพเปิดโอกาสให้ลูกเรียนแบบ
1.             เรียนจากเรื่องที่รู้แล้วสู่เรื่องที่จะรู้ต่อไป
2.             เรียนจากสิ่งที่ทำได้แล้วฝึกทำสิ่งที่จะต้องทำต่อไป
3.             เรียนจากเรื่องง่ายๆ  แล้วค่อยๆ ยากขึ้น
4.             เรียนจากเรื่องใกล้ตัวสู้เรื่องไกลตัว
5.             เรียนจากเรื่องที่เป็นรูปธรรมสู่เรื่องที่นามธรรม
6.             เรียนจากเรื่องที่อยากเรียนสู่เรื่องที่ต้องเรียน
7.             เรียนแบบเล่นแล้วรู้เรื่องที่ต้องเรียน
8.             เรียนแบบบูรณาการ
สำหรับแกนหลักของสาระที่เรียนคือ  อ่าน  เขียน  พูด  คิด  ไทย  อังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  และเรียนรู้ชีวิตเพื่อชีวิตที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบสุข
การเรียนรู้ชีวิตนั้นอาศัยหลักธรรมพุทธศาสนาที่ปองภพพอจะปฏิบัติได้   ซึ่งก็ปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว  คือ  ดูจิต  แม้จะเป็นการเริ่มต้น  ฝึกหัด  ฝึกฝน  ฝึกปรน  ก็จะเกิดบารมีกล้าแข็งขึ้นมาได้  ดังนั้นเมื่อเด็กน้อยทำอะไรลงไป  สิ่งที่เขาจะต้องทำก็คือ  “ดูสิว่าดีไหม  เพราะเหตุใด”  นั่นคือปองภพต้องพิจารณาตนเอง  ว่าการกระทำนั้นดีชั่วอย่างไร   เขาจะต้องบอกได้อย่างมีเหตุผลที่จะเป็นกลางไม่ใช่เข้าข้างตนเอง  นั่นคือ  การฝึกหัด  ปองภพรู้จักการประเมินตนเองเป็นเบื้องต้น  ถ้าทำไปๆ บ่อยๆ  เขาก็จะเข้าใจถึงประโยชน์ของการประเมินตนเอง  เมื่อเห็นประโยชน์  เขาก็จะนำมาใช้การประเมินตนเอง   แบบนี้ถ้าเข้าถึงก็จะเห็นธัมวิจย  ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะให้พุทธสาวกหมั่นประพฤติปฏิบัติ  โดยการหมั่นน้อมจิตดูว่า  “คิดดี  คิดร้ายอย่างไรให้รู้  รู้จนถึงที่สุด  จนจิตพัฒนาตนเอง  จากผู้คิดเห็น  ผู้ดู  ผู้รู้  เมื่อจิตเป็นผู้รู้  ตรงนี้แหละ  เราเรียนรู้ตนเอง  โกรธรู้  ดีใจรู้  ชอบรู้  หลงรู้
                การประเมินตนเองที่ครูให้ประเมินผลการเรียน  การทำแบบฝึกหัดนั้นเป็นการประเมินภายนอก  ถ้าการประเมินนั้นมุ่งการแข่งขันก็จะยิ่งสร้างตัวกูของกูมายิ่งขึ้น  แต่ถ้าฝึกให้ผู้เรียน  น้อมใจ  เข้ามาดูจิตตนเองเนืองๆ  จิตจะลดความเป็นตัวกูของกูลงไปได้  นั่นคือผู้สอนจะต้องสอนทั้งการประเมินภายนอก (จิตใจ)  และการประเมินภายใน (จิตใจ)  นั่นคือจะต้องสอนทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป  แม้จะยากก็ตามแต่จงนึกถึงคำที่ว่า  “น้ำหยดลงหินทุกวัน  หินมันยังกร่อน”
                คำถามที่ผู้สอนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองลองถามเด็กๆ  ภายหลังที่เขาทำกิจกรรมเสร็จแล้วหรือก่อนที่จะทำกิจกรรม  คือ  ทางแห่งการฝึกให้เด็กๆ  รู้จักประเมินตนเอง  เช่น  ถามว่า
1. “ดีไหม  ทำไม”  ถามภายหลังที่เขาทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเสร็จแล้ว  เด็กอาจจะตอบว่า  ดีหรือไม่ดีก็ได้  แต่เราจะต้องถามย้ำไปว่า  ทำไม  เพื่อให้เขาใคร่ครวญหาเหตุผลมาเสริมคำตอบ  ที่ตอนแรกอาจจะตอบแบบคิดน้อยไป  ถ้าย้ำว่า  ทำไม  เขาจะต้องครุ่นคิดหาคำมาตอบ  ยิ่งเด็กครุ่นคิดหาคำมาตอบเราได้มากเท่าไร  เกณฑ์การประเมินผลจะชัดเจนยิ่งขึ้น
2. “เป็นอย่างไร  ทำไม”  ถามความรู้สึกที่ผู้ประเมินจะต้องคิดตอบลึกกว่า  ดีไหม  คิดละเอียดขึ้น
3. “น่าจะถูกต้องไหม”  ถามให้เขาหาเหตุผลมารองรับความถูกต้องของการกระทำ  ผู้ตอบต้องอ้างกฎเกณฑ์เหตุผล  มาประกอบคำตอบที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น
4. “สิ่งที่รายงานมานั้น  มีความน่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด  รู้ได้อย่างไร”  การประเมินขั้นนี้ยากขึ้นมาอีก  ผู้ตอบจะต้องมองเป็นเป้าหมายงานเห็นชัดจึงจะตอบได้ตรงประเด็น  ถามอย่างนี้ฝึกไปเรื่อยๆ  จะช่วยให้เด็กๆ มีเหตุผล  มีเป้าหมายในการสร้างงานชัดเจนขึ้น
5. “ความคิดเห็นที่แสดงออกมานี้ตรงประเด็นมากน้อยเพียงใด”  ถามเพื่อฝึกให้เด็กผู้ตอบย้อนคิดถึงคำตอบของตนเอง  ตรวจสอบกับประเด็นคำถาม  ซึ่งปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นได้ยินได้ฟังบ่อยๆ  ที่นักข่าวถามอย่างหนึ่ง  แต่ผู้ตอบตอบไปอีกอย่างหนึ่ง   ฝึกให้ผู้เรียนวันนี้รู้จักประเมินผลการตอบคำถามหรือนำเสนอเรื่องราวให้ตรงประเด็น  ฝึกให้เป็นเด็กที่ดีวันนี้  เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีจริงๆ ในวันหน้า
การฝึกให้ผู้เรียนรู้จักประเมินตนเองจะช่วยให้เขารู้จักการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  คิดวิพากษ์วิจารณ์  คิดสรุปผล  ประเมินค่า  คิดแปรความและตีความได้ในที่สุด  ซึ่งผู้ถามจะต้องฝึกถามจากคำถามให้ผู้เรียนประเมินผลเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องค่อยยากขึ้นๆ  จากเรื่องที่รู้แล้วไปสู่เรื่องที่รู้เพิ่มขึ้นๆ  ผู้สอนอย่ากลัวว่าผู้เรียนจะประเมินไม่เป็น  จงสอนวิธีการประเมินตนเองให้เขารู้จักการประเมินตนเอง  โปรดสอนให้เขาเรียนรู้ทุกข์จากทุกข์ที่เขากำลังทุกข์
นี่คือการเรียนรู้ชีวิตด้วยการแสวงหาจากชีวิต
                ยังมีการประเมินตนเองอีกอย่างหนึ่งคือ  เมื่อเรียนจบการเรียนนั้นหรือกิจกรรมนั้นๆ แล้ว  ควรให้ผู้เรียนประเมินว่า  “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”  และ  “มีวิธีการเรียนรู้แบบใด”  คำถามทั้ง 2 ข้อนี้จะช่วยให้ผู้เรียนมองย้อยพฤติกรรมการเรียนมาตั้งแต่ต้นว่า  ตนมีพฤติกรรมต่อการแสวงหาความรู้แบบใด  เพื่อจะมาตอบว่า
1.             ได้รู้ว่าการเข้าขอความรู้จากผู้รู้นั้นต้องมีสัมมาคารวะ
2.             ความนอบน้อมถ่อมตนจะช่วยให้ผู้รู้เมตตาถ่ายทอดความรู้ให้เราได้มากตรงตามที่ท่านรู้
3.             การหาความรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์นั้น  ผู้เรียนจะต้องมีเป้าหมายชัด  จะต้องตั้งคำถามย่อยให้หลากหลายเพื่อค้นหาความรู้สู่เป้าหมายได้ตรงตามที่วางไว้
4.             ความรู้ที่นอกเหนือจากคำถามที่วางไว้  ต้องจดบันทึกไว้  แล้วนำมาประมวลกับความรู้ที่ได้จากคำถามจะเป็นความรู้ที่รู้เพิ่ม
5.             ความรู้ที่มาจากหลากหลายแหล่งเรียนรู้นั้น  ย่อมมีความเหมือนและความต่างกัน  ถ้าเรารู้จักประมวลจะสามารถสร้างสรรค์ความรู้ที่ดีได้
6.             ความรู้สึกต่อการเรียนรู้ครั้งนี้
                จะเห็นได้ว่า  ถ้าผู้เรียนบันทึกรายงานการเรียนรู้  โดยมีประเด็น  วิธีการเรียนรู้  ความรู้สึกต่อการเรียนรู้  และ  ความรู้ที่สืบค้นมาได้  โดยมีการวิเคราะห์  แปลความ  ตีความด้วยแล้วเรียบเรียงได้ดี  รายงานชิ้นนี้จะเป็นเอกสารองค์ความรู้ที่น่าสนใจมาก
                รุสดี  มากา  เคยเขียนบอกผลการเรียนของเขาว่า
ผมรู้แล้วว่า  ปัญหาหนึ่งๆ  ถ้าเราค้นหาคำตอบจากหลายที่จะมีข้อแตกต่างกัน  เมื่อนำสิ่งที่รู้นั้นมาเขียนเชื่อมโยงกันก็จะเป็นเรื่องราวที่น่าอ่าน  แปลกใหม่  และมีความรู้มากขึ้น  ผมชอบวิธีการเรียนอย่างนี้ครับ  
เป็นคำพูดที่ถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรแบบง่ายๆ  ซื่อๆ  ตรงไปตรงมา  แต่มากด้วยคุณค่า  ผมเชื่อว่า  นี่คือ  Deep knowledge ของรุสดี  นี่คือ  Enduring Understanding  ของเขา  มันเป็นความฝังใจที่ฝังลึกในบึ้งจิตของรุสดี  เขาจะจดจำวิธีการเรียนรู้  เรื่องราวที่ได้เรียนรู้  และความรู้สึกลึกๆ  นั้นได้นานเท่านาน  แต่ถ้าขาดการกระตุ้นให้ผู้เรียนรำลึกถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา  เขาก็จะเรียนแล้วผ่านไป  ถ้ากระตุกให้ผู้เรียนย้อนคิดถึงพฤติกรรมการเรียนและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา  เขาจะต้องน้อมใจรำลึกความหลังแบบเรียกว่า  คิดถึงอดีตชาติกันเลย  การโยนิโสมนสิการ  จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกและรู้สึก  รู้จริง  รู้แจ้งในเรื่องนั้นๆ  ผมมองว่าการย้อนถามว่า  “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”  เป็นการประเมินตนเองที่ส่งผลให้เห็นถึงรากลึกของความรู้ที่ผู้เรียนได้มา  นำมาประมวลเป็นเรื่องราวบันทึกเป็นตำราเรียนของเขา  ก็จะเป็นองค์ความรู้ของเขา
 
  
      5        
การสอนอ่านนั้น  แม่ของปองภพเลือกใช้วิธีการง่ายๆ  โดยนำคำที่ปองภพรู้อยู่แล้วมาสอน  เรียกว่า  “สอนจากเรื่องที่รู้แล้ว  หรือ  สอนจากสิ่งใกล้ตัว”  คำเหล่านั้นมาเขียนให้ปองภพอ่านคือ  พ่อ  แม่  ฉัน  มี  แรกสอน  สอนเพียง 4 คำ  พอวางบัตรคำอ่านทีละคำ  เด็กน้อยก็อ่านได้ทันทีเพราะเขาคุ้นกับคำเหล่านี้  ไม่นานนักปองภพก็เขียนคำว่า
                ฉัน         มี             พ่อ
                ฉัน          มี             แม่
                ฉัน          มี             พ่อ          แม่
                พ่อ          แม่          มี             ฉัน
พอเพิ่มคำว่า  พี่  น้อง  ปู่  ย่า  เข้าไป  ปองภพก็อ่านได้  เขียนได้  ต่อมาปองภพจะขอให้แม่เขียนคำที่เขาอยากรู้  เช่น  ปลา  ช้าง  ไอศกรีม  การ์ตูน  และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตปองภพ  แม่เขียนตามคำที่ปองภพบอก  ปองภพอ่านคำเหล่านั้นได้  จะเขียนตามแต่เขียนแบบแต่งเป็นประโยคง่ายๆ  เช่น  ฉันมีปลา  ฉันมีไอศกรีม 
แม่ของปองภพหาสมุดเล่มกะทัดรัดมาให้ปองภพเขียนประโยคที่ปองภพอ่านและเขียนได้ลงในสมุด  เด็กน้อยเขียนเพิ่มขึ้นทุกวัน  โดยที่ก่อนจะเขียน  เขาจะอ่านประโยคที่เขียนผ่านมาก่อน  สมุดเล่มนั้นจึงเป็นตำราที่เขียนโดยปองภพ  ตำราเล่มนี้ปองภพชอบอ่านเพราะเป็นหนังสือที่เขาเขียนเอง  เขาจึงอ่านเองได้  ภาษาในหนังสือก็เป็นภาษาของเขา  เรื่องราวในหนังสือก็เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา
เมื่อแม่ของปองภพเห็นว่า  ปองภพพอจะอ่านเป็นคำๆ นำสู่ประโยคได้  และเขียนคำสู่ประโยคตามที่อ่านได้แล้ว  เกมการ  “อ่านตามคำบอก  บอกตามคำอ่าน”  ก็เกิดขึ้นมาทันที
อ่านตามคำบอก  คือ  คำใดที่ปองภพเคยถามแม่และแม่เขียนให้อ่านและเขียนตามได้แล้ว  แม่จะทำบัตรคำไว้  พอว่างๆ ก็นำมาทบทวนให้ปองภพอ่านคำเหล่านั้น  การรวบรวมคำเป็นบัตรคำไว้อ่านทบทวนช่วยให้เกิดบัญชีคำที่อ่านเขียนได้ขึ้นมาด้วย  ถ้าคำใดปองภพลืม  เขียนไม่ถูก  เขาจะค้นหาจากกองคำเหล่านั้น
บอกตามคำเขียน  คือ  คำใดที่ปองภพเคยเขียนได้มาแล้วจะถูกแม่ทบทวนโดยบอกให้เขียนทีละคำ  และบ่อยครั้งปองภพจะบอกคำให้แม่เขียน  แล้วปองภพจะอ่านคำนั้น
จำได้ว่า  ตอนปองภพอายุย่างเข้า 4 ขวบ  ผมนั่งดูสองแม่ลูกเรียนหนังสือกัน  จนกระทั่งเผลองีบหลับไป  ตื่นขึ้นมามีกระดาษแผ่นน้อยวางข้างเตียง  มีข้อความว่า
 
 
 
                    ปู่     ชอบ     นั่ง
                    ปู่     ชอบ     เดิน
                    ปู่     ชอบ     นอน
                    ปู่     ชอบ     อ่านหนังสือ
                    ย่า     ชอบ     เดิน
                    ย่า     ชอบ     ปลูกผัก
                   ภพ     รัก     ปู่     รัก     ย่า  
แรกๆ เริ่มเรียนรู้จากเรื่องราวใกล้ตัวสู่ไกลตัว  จากคำง่ายๆ ค่อยยากขึ้นๆ  จากการอ่านเป็นคำสู่การอ่านเป็นเรื่องเป็นประโยค  แล้วปองภพก็เริ่มอ่านหนังสือที่แม่เคยอ่านให้เขาฟัง  พอเริ่มอ่านหนังสือก็เริ่มมีปัญหา  พบคำที่อ่านยากแต่อยากอ่าน  คำไหนที่อ่านได้เขาดีใจตื่นเต้น  คำไหนที่อ่านไม่ได้ต้องการให้อ่านให้ได้  แต่ปัญหาของปองภพยังมีคือ  อ่านพูดออกเสียงเพี้ยน  แม่ต้องหาวิธีการสอนเพื่อให้เหมาะกับปองภพเป็นรายบุคคล
ปองภพมักจะพูดคำว่า  ปลา  เป็น  ปา  พูดคำว่า  เครียด  เป็น  เคียด  นั่นคือพูดคำควบกล้ำไม่ชัดเจน  บทเรียนที่แม่เตรียมให้คือ  การแข่งขันพูดคำ  แต่ไม่เติมว่าให้ชัด  เพื่อไม่ไปสะกิดปมของปองภพ  เช่น
                ลา           -              ปลา                                        รอ           -              กรอ
                รอง         -              กรอง                                      ไล           -              ไกล
                เรื่อง       -              เครื่อง                                     ราบ         -              คราบ
                เรียด       -              เครียด                                     ลวก        -              ปลวก
คำเหล่านี้แม่ผู้เป็นครูเขียนเตรียมไว้มากมาย  จัดไว้เป็นหมวดหมู่  เป็นกองคำอีกกองหนึ่ง  สามารถนำมาเล่นเกม  เขียนตามคำบอก  บอดตามคำเขียนได้อีกด้วย
และเมื่อปองภพโตขึ้นมา  (อายุ 7 ขวบ)  พ่อก็นำเข้าโรงพยาบาลแก้ปัญหาทางลิ้นที่ส่งผลให้พูดออกเสียงเพี้ยนได้  เมื่อปองภพพูดออกเสียงได้ชัดเจนเกือบเป็นปรกติ  บทเรียนบทนี้ก็มีคุณค่าต่อปองภพในการฝึกการพูดอ่านคำควบกล้ำ  และเป็นการรู้คำเพิ่มขึ้นด้วย
พออ่านคำออกมา  ปองภพก็เริ่มอ่านหนังสือที่อยากอ่านมานานแล้ว  ตอนก่อนโน้นดูภาพสนุกกับการเปิดดูภาพและฟังพ่อแม่อ่านให้ฟัง  แต่ตอนนี้เริ่มอ่านเอง  การอ่านหนังสือทำให้ปองภพพบปัญหา “การอ่านคำใหม่”  คือ  คำที่มีหรือไม่มีในกองคำ  แต่พอมาอ่านหนังสือที่มีประโยคยาว  มีเรื่องเล่ายาวๆ  ปัญหาคำบางคำก็เริ่มมีขึ้น  ปัญหานี้แม่ของปองภพมีวิธีแก้  เพราะคิดอยู่เสมอว่าจะต้องสอนอ่านผันคำ  อ่านสะกดคำ  ซึ่งจะช่วยให้อ่านออกเสียงได้ได้ดี  แต่ถ้าเริ่มด้วยการอ่านสะกดคำจะเบื่อ  โดยเฉพาะเด็กแบบปองภพเป็นเด็กพวกอย่างรู้เรื่อง  เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่สมาธิสั้นแต่เขามีความใคร่รู้มาก  จึงอยากรู้เรื่องเร็วๆ  การอ่านเป็นคำเป็นประโยคสั้นๆ  จะช่วยเขาได้มาก  เขารู้ได้ทันใจเขาก็พอใจและภูมิใจในตนเอง  แม่ของปองภพได้จัดการเรียนการสอนแบบสนองความต้องการของลูกได้ดี
บทเรียนอ่านผันคำ  สะกดคำ  เริ่มต้นง่ายๆ  ที่คำว่า
ฉ   +   ะ   +   น   =   ฉัน
ก   +   ะ   +   น   =   กัน
จ   +   ะ   +   ง   =   จัง
ป   +   ะ   +   ก   =   ปัก
พ   +   ะ   +   ด   =   พัด
ต   +   ะ   +   ม   =   ตัม
น   +   ะ   +   บ   =   นับ
                พอสะกดคำได้ก็มาเขียนตามคำบอก  บอกตามคำเขียนกัน  เช่น  พัดลม   นับเลข   ปักเป้า   เพื่อนฉัน  ปองภพเพลินกับการเรียนแบบนี้ 
นอกจากจะสอน  ะ  แปลงรูปจากวิสรรชนีย์เป็นไม้หันอากาศแล้ว  คำต่อไปอีกคือ
 
สระ  เอะ  แอะ
สระคงรูป  เช่น  เตะ  เละ  เฟะ  และ  แตะ  แพะ
สระแปลงรูป  เช่น 
ก   +   เอะ   +   ง   =   เก็ง                              ด   +   เอะ   +   ก   =   เด็ก
จ   +   เอะ   +   ด   =   เจ็ด                              พ   +   เอะ   +   ญ   =   เพ็ญ
ข   +   แอะ   +   ก   =   แข็ง           ม   +   แอะ   +   ก   =   แม็ก
ซึ่งเป็นการแปลงรูปวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ในกรณีที่มีตัวสะกด
 
สระ  โอะ
สระคงรูป  เช่น  โปะ  โละ  โผละ
สระลดรูป  เช่น
ค   +   โอะ   +   น   =   คน            จ   +   โอะ   +   ล   =   จล
ล   +   โอะ   +   ง   =   ลง                              ค   +   โอะ   +   ง   =   คง
ก   +   โอะ   +   ก   =   กก              พ   +   โอะ   +   บ   =   พบ
แต่มีข้อยกเว้นอยู่ตัวหนึ่ง  ร  ซึ่งใช้เป็นตัวสะกดเฉพาะของ  ออ  ลดรูป  เช่น  จร  มรณ์  พร  ศร  นอกนั้นถ้าไม่ใช่  ร  สะกดถือว่ามากจาก  โอะ  ลดรูป
 
สระ  เอาะ
สระคงรูป  เช่น  เจาะ  เพาะ  เมาะ  เกาะ  เถาะ  เหาะ  เบาะ  เหมาะ
สระลดรูป  เช่น 
น   +   เอาะ   +   ต   =   น็อต
ค   +   เอาะ   +   ก   =   ค็อก
ล   +   เอาะ   +   ก   =   ล็อก
ฟ   +   เอาะ   +   ก   =   ฟ็อก
ลดสระเอาะออก  คงใช้ อ  กับใช้ไม้คู้แทน  เมื่อมีตัวสะกด  แต่มียกเว้นอยู่คำหนึ่งคือ
ก   +   เอาะ   +   อ้   =   ก็   ซึ่งก็มีเพียงคำนี้คำเดียว
 
สระ  ออ
                สระคงรูป  เช่น  พอ  พ่อ  ยอ  ย่อ  ตอ  ต่อ  หลอ  หลอน  คลอง  พลอง  ตอบ  ชอบ
                สระลดรูป  เช่น  บ  บ่  ที่แปลว่าไม่  แต่ถ้าเป็น  บ้าบอ  บ่อน้ำ  ยังคงมี  อ  อยู่
                แต่ถ้าคำแผลงมาจาก  ป  มาเป็น  บ  เช่น  บดี  บพิดร  บรม  บวร  บริวาร  บริขาร  บริกรรม  บริจาค  บริบูรณ์  บริโภค  บริเวณ  บริษัท  บริสุทธิ์  บริภาษ
                หรือคำบาลี  สันสกฤต  บางคำที่ออกเสียง  จ   ท  ธ  น   ม   ว   ศ   ษ   ส   ห   อ  แล้วมี  ร  ตามหลังพยัญชนะเหล่านั้น  เวลาอ่านออกเสียงคงออกเสียง  อ  เช่น
                                จรดล                      จรลี                         ทรพา                     ทรพี                       ทรชน
                                ทรชาติ                   ทรพิษ                    ทรยุก                      ทรยศ                      ทรลักษณ์
ธรณี                       นรชน                    นรชาติ                   นรสิงห์                  มรณะ
มรดก                     วรกาย                    วรโฉม                   วรลักษณ์               อศรพิษ
อักษรลักษณ์         อักษรเลข               อักษรศาสตร์         สรสิทธิ์                  สรลักษณ์
หรดาล                   หรดี                        หรคุณ                    มหรสพ                 อรชุน
อรพินท์                 อรสุม
 
สระ  เออ
                สระคงรูป  เช่น  เธอ  เกลอ  เจอ  เผลอ 
แต่ยังมีคำ 3 คำที่ยังคงรูป  เออ  คือ  เทอญ   เทอม   เยอว
                สระลดรูป   ลด  อ  ออกในเมื่อคำนั้นสะกดด้วยมาตราแม่เกย  เช่น  เชย   เขย   เลย  เตย  เอย
สระแปลงรูป  แปลง  อ  เป็น  อิ  เมื่อมีตัวสะกด  (ยกเว้น  ย  สะกด  ให้ดู  เกย  เชย  เขย)  เช่น
 
ก   +   เออ   +   ด   =   เกิด                             ถ   +   เออ   +   ด   =   เถิด
ป   +   เออ   +   ด   =   เปิด                             จ   +   เออ   +   ง   =   เจิง
ล   +   เออ   +   ก   =   เลิก                             น   +   เออ   +   น   =   เนิน
 
สระ  เอีย
สระคงรูป  เช่น  เมีย  เสีย  เลีย  เรียง  เวียง  เอียง  เรียก  เขียด  เพียบ  เพลีย
สระลดรูป  มีแต่คำโบราณ  เช่น  รยก (เรียก)    วยง (เวียง)     ขยด (เขียด)
 
สระ  อัวะ
                สระคงรูป  เช่น  ผัวะ   ผลัวะ   ยัวะ
                สระลดรูปและแปลงรูป   คือ  ลดหันอากาศแล้วแปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้   เช่น
ก   +   อัวะ   +   ง   =   ก็อง                            ย   +   อัวะ   +   ก   =   ย็อก
 
สระ  อัว
                สระคงรูป  เช่น  ผัว   วัว  มัว  กลัว  ตัว
                สระลดรูป  เช่น
ก   +   อัว   +   น   =   กวน                             ด   +   อัว   +   ง   =   ดวง
พ   +   อัว   +   ก   =   พวก                             ข   +   อัว   +   ด   =   ขวด
ส   +   อัว   +   ม   =   สวม                             ส   +   อัว   +   ย   =   สวย
 
แน่นอนว่า  แม่ของปองภพ  จัดทำบัญชีคำเหล่านี้ไว้แบบเตรียม  (พร้อมเพื่อนำออกมาทำ)การสอน  กล่าวคือ  คำใดที่ตรงความต้องการของลูก  พูด  อ่าน  เขียน  ไม่ถูกต้อง  ก็จะสอนคำนั้น  อาจจะแถมคำอื่นๆ บ้างถ้ามีโอกาส  และการเตรียมตัวอย่างนี้ก็เป็นการรำลึกความรู้เดิมๆ  ของตนที่เคยเรียนผ่านมาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว  นี่คือการเรียนรู้ทั้งผู้สอนและผู้เรียน
ยังมีบัญชีคำอีกชุดหนึ่งที่แม่ของปองภพจัดเตรียมไว้และนำมาสอนเมื่อมีโอกาส  คือ  คำ  ผันคำตามระดับเสียงเดียวกัน  เช่น  ดิน  กิน  บิน  ยิน  จะไม่สอนแบบผันตามระดับเสียงวรรณยุกต์  เช่น  กา   ก่า   ก้า   ซึ่งเป็นการสอนแบบจำปาก  แต่การสอนแบบอ่านเขียนคำในระดับเสียงเดียวกันช่วยให้อ่านคำได้ดีกว่า  เขียนคำได้ถูกต้องกว่า   คำเหล่านี้จะนำคำที่ใช้ได้จริงๆ  มารวบรวมไว้  เมื่อให้อ่านเขียนแล้วสามารถนำมาแต่งประโยคได้  เช่น
กิน          ดิน          บิน          หิน         ริน          ยิน          ชิน
กา           ขา           มา           หา           ตา           วา            ยา
บิ่น          ซิ่น          ปิ่น          วิ่น          ถิ่น          ฝิ่น
วาน        สาน        จาน        ปาน        ยาน        นาน       งาน
บ้าน        ป้าน        ร้าน
ดึง           ตึง           มึง           ถึง           ปึง           ขึง
ถ่าน        ย่าน        ว่าน        ผ่าน        อ่าน
ง่าย         ว่าย         ถ่าย         ส่าย
 
                คำที่เตรียมไว้เป็นชุดๆ  ดังนี้  ง่ายต่อการนำมาสอนอ่านแบบอ่านสะกดคำ  ซึ่งเสียงจะออกมาในระดับเดียวกัน  เหมาะสำหรับเด็กๆ  ที่มีปัญหาสำหรับการอ่านออกเสียงเพี้ยนและเด็กที่พูดใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง 

 
      6        
                ช่วงอายุ 3-4 ขวบ  ปองภพก็เล่นๆ เรียนๆ  เขียนๆ  อ่านๆ  โดยเฉพาะการเขียนนั้น  เขามักจะเขียนในรูปแบบ
                                ฉันไม่ไปโรงเรียน
                                ฉันเขียนหนังสือ
                                ฉันอ่านหนังสือ
                                ฉันอยู่บ้าน
                                ฉันมีพ่อมีแม่
 
ซึ่งเป็นการนำคำมาเขียนให้เป็นประโยคธรรมดา  ไม่ได้ซ่อนความคิดอะไรในเรื่องราวที่เขียน  เขียนเสร็จก็อ่าน  อ่านแล้วก็ออกไปเล่นเป็นอยู่อย่างนี้เอง  แต่พออายุย่างเข้า 6 ขวบ  ปองภพเริ่มเขียนแบบซ่อนความคิดอยู่ในเนื้อหาของเรื่องนั้นๆ  แม้แต่คำที่นำมาใช้เด็กน้อยก็รู้จักคำที่แสดงพลังของคำนั้นๆ  มาเขียนบอกเรื่องราว  เช่น
                                ผมไม่ไปโรงเรียน
                                ผมเรียนอยู่ที่บ้าน
                                ผมชอบบ้านเรียน
 
ถามว่ามีใครสอนไหม  ตอบว่าไม่  เพราะเด็กคนนี้ไม่ชอบใครมาชี้แนะว่าต้องทำอย่างนั้น  ต้องทำอย่างนี้  เขาต้องการอิสระทางความคิด  ก่อนทำเขาจะคิด  ดูเหมือนเขาเล่น  เพราะเห็นเขายกนั่นวางนี่  ถามว่าทำไมไม่เขียน  เขาตอบว่า  “เดี๋ยวก่อน  กำลังคิดอยู่”  พอคิดได้เขาก็จะเขียน  คำที่นำมาเขียนจะมีคำแปลกอยู่  เช่น  บ้านเรียน  ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในหมู่พวกที่จัดการเรียนการสอนแบบ Home School  แต่ปองภพนำมาเขียนอาจจะมาจากคำว่า  “เรียนอยู่ที่บ้าน”  ก็ได้  หรือเขาคงได้ยินได้ฟังมาจากที่ไหนก็ได้  แต่ที่น่าสนใจคือ  ปองภพหยิบคำนี้มาใช้เป็น  นี่คือคุณสมบัติที่ต้องการจะให้เกิดในตัวผู้เรียน
ยังมีกลอนเปล่าอีกบทหนึ่งที่ปองภพเขียน  ชื่อสายรุ้ง  อ่านแล้วดูเหมือนธรรมดา  แต่ที่มาที่ไปน่าสนใจมาก  เด็กน้อยเขียนว่า
                วันนี้
                ผมฉีดน้ำใส่กำแพง
                เกิดแสงสายรุ้ง
งานเขียนชิ้นนี้  ปองภพเขียนบอกเล่าภาพความจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา  ปองภพเล่นฉีดน้ำจากสายยางล้างกำแพงบ้าน  ฟองฝอยน้ำกระทบแสงแดดเป็นสายรุ้ง  เขาดีใจมาก  วิ่งเข้าไปในบ้านแล้วเขียนงานชิ้นนี้ออกมา  หลังจากนั้นเขาก็อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องรุ้งในน้ำ  แล้วเขาก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของรุ้งกินน้ำ  พฤติกรรมอย่างนี้แสดงว่าปองภพเกิดการเรียนรู้ทั้งวิธีการเรียนรู้  และเนื้อหาสาระที่ควรจะรู้  ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ  ต่อการเรียนรู้ขึ้นมาในภายหลัง
งานเขียนของปองภพช่วงนี้  เขามักจะเขียนสิ่งที่เขาเห็นมาให้ผู้อ่านอ่าน  คำง่ายๆ ที่เขานำมาเรียงร้อยเล่าเรื่องราวดูแล้วมันง่ายแต่น่าอ่าน
                ท้องฟ้าสีขาว
                ตื่นนอนตอนเช้า
                ฟังข่าว  กินข้าว
 
บางครั้งเด็กน้อยเขียนจากความรู้สึกสะเทือนใจ  บอกเล่าความคิดที่เขามีต่อเพื่อนของเขาว่า
                พีท  เพื่อนของผม
                พ่อของพีทตายแล้ว
                ผมสงสารพีท
 
ความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาภายหลังที่เห็นน้ำตาของเพื่อน  ในขณะที่ปองภพอายุ  6  ขวบ  เรียนรู้ภาษาไทยได้ไม่มากนัก  แต่สามารถเขียนเล่าความรู้สึกตนเองให้ผู้อื่นอ่านได้อย่างนี้  ผมยอมรับว่าเขาเก่ง
 
ผมชอบอ่านกลอนเปล่าและบทกวีของเซน  เช่น  บทกวีบทหนึ่งของบาโช (กวีญี่ปุ่น)  ที่เขียนว่า
                ดอกไม้ทั้งหลายตายไปสิ้น
                เหลือแต่ความเศร้า
                นอนอยู่กับเมล็ดหญ้า*
ผมชอบคำว่า  ตาย  และ  นอน  คำสองคำนี้สะดุดใจผม  ทำให้ผมมองลึกเข้าไปในคำว่า  ดอกไม้ทั้งหลาย  มันไม่ใช้ดอกไม้ธรรมดา  แต่มันมีความหมายลึกกว่า  ผมมองเห็น  ความดีงาม  คนดี  เยาวชนผู้ใฝ่ดี  เขาเหล่านี้ได้ตายไปแล้ว  คงทิ้งความนิ่งให้ซบนิ่งอยู่กับเมล็ดหญ้า  คือ  ผู้เขียนบทกวี  คือ  บาโช  ผมตีความอย่างนี้
 
  
จากหนังสือเรื่อง : ฉันคือหินยา ค่ารัดสาดจุฬา : คณะรัฐศาสตร์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : จัดพิมพ์. และบทกวีอีกบทหนึ่งที่เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูรณ์  นำเสนอไว้ในหนังสือ  เรื่อง “มุมที่ไม่มีเหลี่ยม”
                ใบไม้
                กำลังร่วงหล่น
                พลิกหงาย
                พลิกคว่ำ
ถ้าอ่านแบบตีความก็จะได้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง  ถ้าอ่านธรรมดาจะเห็นว่า  กวีใช้คำง่ายๆ  แต่อ่านแล้วมองเห็นภาพ  อ่านแล้วรู้สึกว่ามีสายลมพัดเบาๆ  โชยมาต้องผิวกาย  ในขณะที่ใบไม้ที่กำลังร่วง  พลิกคว่ำ  พลิกหงายอยู่  และอีกบทหนึ่งที่เขียนว่า
                อย่างสงบลึกล้ำ
                กบเหม่อมอง
                ขุนเขา*
 
นี่ก็นำคำไม่กี่คำมาวางไว้ใกล้ๆ  แต่ได้จังหวะ  ทำให้มองเห็นภาพ  ความเงียบที่ยิ่งกว่าเงียบ  กบปล่อยใจอิสระ  ทอดสายตาสู่ภูผาข้างหน้า  ชวนให้นึกถึงยามที่เราอยู่ในอารมณ์สมถะ  จิตนิ่งมั่นคงปราศจากสิ่งใดมารบกวน
เมธา  เมธี  กวีชาวใต้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถนำคำน้อยมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวที่ซึมลึกเข้าไปในหัวใจ  เช่น
                คนดี- คนเลว
                เมืองไทย
                คนดีดี
                ยังมีอยู่อีกมาก
                แต่หายาก
                คนเลวเลว
                แม้มีอยู่ไม่มากนัก
                แต่พบเห็นได้ง่าย**
 
  
เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูรณ์  มุมที่ไม่มีเหลี่ยม. (พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง). กรุงเทพฯ. จตุจักรการพิมพ์ มปพ.                 หิว
                ฉันหิว
                เธอก็หิว
                พ่อก็หิว
                แม่ก็หิว
                น้องก็หิว
                ครอบครัวฉันหิวกันทุกคน***
 
คำว่า  “หิว”  คำเดียวที่  เมธา  เมธี  นำมาใช้นั่นสามารถบ่งของผู้อ่านที่มีอารมณ์ร่วมให้เป็นอย่างดี  และในบทกวีที่ชื่อว่า  “คนดี-คนเลว”  นั้นชัดเจนมาก  เมธา  เมธี  เขียนบอกอย่างตรงไปตรงมา  และเป็นความจริงในสังคมบ้านเมืองเราทุกวันนี้ที่คนเลวเลวมีน้อยแต่หาได้ไม่ยาก
หนังสือที่นำมาอ้างอิงทุกเล่มผมเก็บไว้ให้ปองภพอ่านเมื่อถึงเวลาที่เขาจะอ่าน
 
 
 
เมธา  เมธี. บางทีฉันอาจเปลี่ยนไป. 2538. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์ปัจเจกชน.       7        
ปองภพพออายุย่างเข้า 7 ขวบ  ก็มีความคิดเขียนที่เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น  ผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่เคี่ยวเข็ญให้ยึดรูปแบบ  แม้แต่งานศิลปะ  เขาก็จะทำตามใจของตนเองทำตามที่อยากทำ  ความเป็นอิสระทางความคิดนั้นส่งผลให้งานศิลปะของปองภพเป็นไปตามรูปแบบของปองภพ 
วันที่ 5 ธันวาคม 2555  ปองภพมีจดหมายส่งมาให้ผม  โดยบรรจุมาในกล่องของขวัญ  ปองภพเขียนว่า
                                สวัสดีครับปู่
วันพ่อนี้ผมส่งเสื้อให้ 3 ตัวครับ
ขอให้ปู่มีความสุข
ผมรักปู่ครับ
ภพ
 
 
ปองภพส่งเสื้อยืดมาจากภูเก็ตให้ผมที่ยะลา  ความคิดอย่างนี้มีอยู่ในหัวใจเด็กน้อยเสมอมา  แม้แต่กับเพื่อนๆ  เขาก็จะแบ่งปันของเล่นของเขาให้เพื่อนๆ ได้เล่นเสมอ  กับการเล่นของปองภพนั้นจะไม่เป็นการเล่นที่สูญเปล่า  หลายครั้งที่เขาบันทึกเรื่องราวการเล่นไว้  เช่น
 
                พีทไปหาภพ
                ภพไปหาอิง
                อิงไปหาพีท
                อิงเจอแจ็ค
                หากันไม่เจอ
 
เรื่องนี้ได้ถามปองภพว่า  “ทำไม”  เด็กน้อยบอกว่า  “เพราะไปหาไม่ตรงจุด  มัวแต่ไปคนละทาง”  ความเรียงเรื่องนี้ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า  “ถ้าตั้งใจค้นหาในทิศทางเดียวกันการพบเจอก็เกิดขึ้น”  แต่ความคิดของเด็กย่างเข้า 7 ขวบ  เขาก็คิดได้เพียงแค่นี้  เพียงแค่นี้ที่มีนัยหลายอย่างซ่อนอยู่
ช่วงนี้ปองภพมักจะนำคำที่ตนเองอ่านสะกดคำ  ผันคำได้มาคิดเรื่องเขียน  เช่นคำว่า  จบ  จับ  ปองภพเขียนเล่าถึงการเล่นซ่อนหากับเพื่อนๆ  ภายหลังที่เขาเล่นซ่อนหาจนค่ำมืดก็แยกย้ายกันกลับบ้าน  อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ  ปองภพก็เขียนว่า
 
                ปลาเป็นปลาตาย
                ฉันเป็นคนเป็น
                ฉันจับเพื่อนได้
                เพื่อนฉันต้องเป็น
                วิ่งกันไม่จบ
 
คำว่า  เยอะ  ปองภพเขียนว่า
                เพื่อน
                เยอะ
เพื่อนเยอะแยะ
 
                                ของเล่น
                                เยอะ
                                ของเล่นเยอะแยะ
 
                                การบ้าน
                                เยอะ
                                การบ้านเยอะแยะ
 
สำหรับรูปแบบการเขียนนั้น  ปองภพคิดเขียนเอง  สังเกตว่าก่อนนี้  เขามองเห็นภาพสิ่งที่จะเขียนแล้วนำภาพนั้นมาเขียนตามที่เห็น  เช่น
                กาแฟมีรสขม
                แม่ของผม
                ชอบดื่มกาแฟ
 
                ไอศกรีม
                อร่อยแต่อันตราย
                ผมจึงกินน้อย
 
                ฝนดีต่อต้นไม้
                แต่ผมไม่ชอบฝน
                เพราะผมไม่ได้เล่น
เด็กน้อยเห็นภาพอะไร  แบบใด  เขาก็จะนำมาเขียนตามความคิดที่เห็น  แต่ตอนนี้เขาจะกำหนดคำ  แล้วนำคำนั้นมาคิดเขียนให้เห็นภาพ  ภาพที่เขาเห็นมาพร้อมกับภาพที่เขาเข้าใจ  เช่น
                ดาว
                ดวงดาว
                ฟ้ามีดาว
                ท้องฟ้ามีดวงดาว
 
                ฟ้าร้อง
                ฝนตก
                ฟ้าร้อง
                ฝนตก
                ฟ้าผ่า
 
บทฟ้าร้องนี้  พอเขียนเสร็จปองภพดีใจหัวเราะลั่น  เพราะภาษาที่เขียนสามารถระบายความคิดที่เขาจินตนาการออกมา  นี่คือความสำเร็จในการเขียนเกิดขึ้นแก่ปองภพ  หลายปีแล้วที่เขาเพียรคิดเพียรเขียน  แต่วันนี้เขาทำได้แล้ว  สามารถเขียนสิ่งที่อยากเขียนได้ดั่งใจคิด  ปองภพจึงหัวเราะจนน้ำตาไหลย้อยออกมา
การจัดการเรียนรู้ควรเป็นอย่างนี้  ควรให้เข้าไปถึงใจของผู้เรียน  ผลการเรียนรู้ที่ออกมาได้ดั่งใจจะสร้างความปิติให้เกิดขึ้นแก่เขา  แล้ววิธีการเรียนรู้และผลการเรียนรู้นั้นเขาจะจำได้นาน  มันจะฝังใจเขาอยู่นาน
มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก  เมื่อปองภพกล่าวถึงจมูก  เขาเขียนถึงจมูกในรูปลักษณ์ที่ต่างไปจากผองเพื่อน  โดยเฉพาะบทสุดท้ายน่าสนใจมาก  ลองอ่านดู
                จมูก
                ดม
                จมูกดมกลิ่น
 
                จมูก
                หอม
                จมูกหอมดอกไม้
 
                จมูก
                หายใจ
                จมูกมีไว้หายใจ
                จมูก
                สมาธิ
                สมาธิดูลมที่จมูก
 
บทสุดท้ายนี้บ่งบอกถึงตัวความรู้ที่ซ่อนอยู่ในจิตลึกของปองภพ  น่าสนใจมาก  ซึ่งตอนเริ่มต้นผมเคยพูดถึงที่ปองภพดูจิตของตนเอง  มาตรงนี้ผลของสิ่งนั้นหรือปัจจัยนั้นส่งมาให้เห็นเหตุตรงนี้เอง
ทั้งหมดที่กล่าวถึงการเขียนของปองภพ  มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า  การเปิดโอกาสให้ผู้เรียน  คิดเขียนตามความต้องการของเขา  ก็จะเกิดรูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเองได้  สิ่งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ยิ่งนัก  แต่นั่นแหละการจัดการเรียนรู้แบบนี้  ผู้สอนจะต้องเปิดใจกว้างไม่ติดรูปแบบ  มองเห็นความสำคัญของความคิดของผู้เรียน  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีพื้นที่ความคิดเห็นของผู้เรียนเองให้มากที่สุด  ส่วนครูนั้นคอยเป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่
1.             กระตุ้นให้ผู้เรียนหมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมบุคคลที่ตนพบเห็น  เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนเรื่อง
2.             ฝึกให้ผู้เรียนหมั่นขีดเขียนแสดงความคิดเห็นของตนออกมาให้ผู้อ่านอ่านได้ตรงตามใจที่ตน (ผู้เขียน) คิดด้วยภาษาที่ถูกต้องและมีศิลปะ
3.             กระตุ้นให้ผู้เรียนเขียนเรื่องอย่างสร้างสรรค์
 
  
      8        
เรื่องราวบางเรื่องในอดีต  บทเรียนบางบทเรียนในอดีต  มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนๆ นั้น  ผมเองก็เป็นคนๆ หนึ่งที่จดจำบทเรียนในอดีตบางบทบางตอนได้  และบทเรียนบทนั้นๆ  มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของผม  บทเรียนในเรื่องลูกกบ  ฝังใจผมมาจนทุกวันนี้  ตอนแรกที่ผมเริ่มอ่าน  เมื่ออายุได้ 7 ขวบ  ผมชอบมากเพราะคำทุกคำมันทำให้ผมมองเห็นภาพ  อ่านเรื่องลูกกบแล้ว  ตอนโรงเรียนเลิก  ผมต้องหลบไปหาแอ่งน้ำที่ริมป่า  เพื่อซึมซับกับภาพที่ปรากฏในบทเรียนที่ว่า
“มีสระแห่งหนึ่งไม่สู้จะกว้างใหญ่นัก 
เวลาลมพัดน้ำในสระเป็นระลอกคลื่นน้อยๆ 
ทยอยเข้ากระทบฝั่ง  ต้นหญ้าที่ขอบสระ
โอนเอนไปมาจนใบเสียดสีกัน
ในสระนี้มีไข่เม็ดเล็กสีดำๆ ลอยอยู่
แพหนึ่ง  คือ  ไข่กบ...”
 
เวลาครูสอนให้เราออกเสียงพร้อมๆ กัน  ครูจะเน้นเสียง  เว้นจังหวะ  ทิ้งช่วง  ฟังดูแล้วเหมือนลูกคลื่นน้อยๆ ค่อยๆ ทยอยเข้ากระทบฝั่ง  อ่านไปหัวใจก็ลอยไปในบทเรียนนั้นๆ เสมือนหนึ่งว่า  เรากำลังเดินอยู่ขอบสระ  เรากำลังช้อนไข่เม็ดเล็กๆ อยู่   เรารู้สึกมีส่วนร่วมในบทเรียนบทนั้นด้วย
พอเรามาอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง  “แม่ไก่ดื้อ”  ตอนจบของเรื่อง  เราอ่านไปพลาง  น้ำตาก็ไหลออกมาเพราะเราสงสารนันทา  แม่ไก่ดื้อตัวนั้นที่บทกลอนเขียนไว้ว่า
               
แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก
                ชะล่านักเลี่ยงออกนอกถนน
                มัวแต่เพลินปลาบปลื้มจนลืมตน
                ถูกรถยนต์แล่นทับดับชีวา
 
                นิจจาเอ๋ยเคยเห็นทุกเย็นเช้า
                กลับเหลือแต่กรงเปล่าไม่เห็นหน้า
                เคยวิ่งเล่นด้วยกันทุกวันมา
                ช่างทิ้งข้าเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเอย
 
 
พอโตขึ้นมานิดหนึ่งได้เลื่อนขั้นมาอยู่ ป.2  ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งชื่อ  “นกกางเขน” ยังจำตอนขึ้นต้นเรื่องได้
“เช้าวันหนึ่ง  นกกางเขนตัวผู้ตัวหนึ่ง เกาะอยู่บนกิ่งมะม่วงในสวน  นกน้อยตัวนี้เริ่มส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ  มันร้องพลาง  กระโดดพลางไปตามกิ่งไม้  กิ่งโน้นบ้าง  กิ่งนี้บ้าง  มันร้องอยู่ไม่นาน ก็มีนกกางเขนตัวเมียซึ่งเกาะที่กิ่งล่าง  ส่งเสียงร้องประสานรับออกมา  นกกางเขนตัวผู้มองไปทางนางนก  พลางนึกในใจว่า  “ฉันอยากจะพูดกับนางนกตัวนี้จริงๆ”  นึกแล้วจึงพูดว่า  “สวัสดีวันนี้อากาศดีมากนะจ๊ะ”  นางนกตอบว่า  “จ้ะอากาศอย่างนี้ทำให้ฉันรู้สึกเบิกบานใจขึ้น”…
นานนับเกือบ 60 ปีแล้วที่ผมนั่งเรียนหนังสือทั้ง 3 เล่ม   แต่วันนี้ผมยังจำข้อความเหล่านั้นได้เพราะบทเรียนเหล่านี้คือ  บทเรียนชีวิต   ชีวิตของผมมีความสัมพันธ์กับลูกกบ  นกกางเขน  และแม่ไก่  ผมเป็นลูกคนบ้านนอกที่บ้านเลี้ยงไก่ไว้กินไข่กินเนื้อ   บ้านอยู่ริมน้ำ   มีนกกางเขนมาร้องเรียกคู่อยู่ที่กิ่งไม้ข้างบ้าน และบ้านนอกที่ผมอยู่มีทั้งลูกกบลูกปลากัด   แมลงปอ   หิ่งห้อย   ผีเสื้อ   นกเขา   นี่คือสภาพแวดล้อมที่ผมพบรู้   ผมอ่านหนังสือทั้ง 3 เล่มด้วยความสนุก   ตื่นเต้น  และเข้าถึงใจ   พอโตขึ้นผมอ่านหนังสือเหล่านี้อีก ผมก็ยิ่งรับรู้รสวรรณกรรมที่เข้มข้น   นอกเหนือจากความสนุกตื่นเต้นตามเนื้อหาแล้ว  ผมยังเคลิ้มเคลิ้มต่อภาษาที่ผู้เขียนรังสรรค์ขึ้นมาให้อ่าน  เรียกได้ว่าผมติดในรสภาษา   ผมเสพย์รสภาษาอย่างดื่มด่ำจนจำข้อเขียนเหล่านั้นได้
มาวันนี้ผมย้อนคิดถึงเรื่องราวการเรียนรู้ในวันนั้น   เมื่อนานมาแล้ว   ครูมักจะเรียกการอ่านที่สอนพวกเราว่า
                                                อ่านออกเสียง
                                                อ่านเอาเรื่อง
และต่อมาก็เพิ่มการอ่านจับใจความเข้ามาอีก
 
                แต่วันนี้โลกแปรเปลี่ยนไป  สังคมข่าวสารมีมากยิ่งขึ้น  การเอาเปรียบในการช่วงชิงพื้นที่ข่าวมีมากยิ่งขึ้นพร้อมๆ กับการขายข่าว  ข่าวกลายเป็นสิ่งเสพย์ติดและธุรกิจที่ยิ่งใหญ่  ข้อมูลข่าวสารและวรรณกรรมต่างๆ ที่ผู้อ่านจะรู้เท่ากัน  และพร้อมที่จะรู้ทันเท่าสิ่งเหล่านั้น  นั่นหมายถึงว่า   พฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย   จะให้ผู้เรียนอ่านแล้วมาบอกว่า   รู้เรื่องอะไรบ้าง  ในเรื่องที่มีตัวละครใดบ้าง  บทความของตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไรบ้างนั้นไม่เพียงพอแล้ว   ผู้เรียนวันนี้ต้องอ่านเรื่องราวต่างๆ แบบคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  แล้วนำมานั่งวิพากษ์วิจารณ์หาบทสรุป  แปลความ  ตีความกันให้มากๆ ให้เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติได้จริงๆ   เพื่อผู้เรียนจะสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมโลกได้อย่างสงบสุข
 
 
                แม่ของปองภพเตรียมการสอนเรื่อง ลูกกบ  โดยการเตรียมคำถามไว้คอยถามปองภพ  เช่น
1.             ชีวิตในสระสัตว์เหล่านั้นมีความเป็นอยู่กันอย่างไร
2.             ทำไมสัตว์เหล่านั้นจึงมีความเป็นอยู่อย่างนั้น  ข้อความใดยืนยันคำตอบนี้
3.             ความเป็นอยู่ของสัตว์ในเรื่องนี้   ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งใด   อย่างไรบ้าง
4.             มีข้อความใดที่บ่งบอกว่าเกิดประโยชน์ต่อสิ่งนั้น
5.             ถ้าผู้อ่าน (ปองภพ) อยู่ในเรื่องนี้ด้วยจะอยู่อย่างไร   ทำไมต้องอยู่อย่างนั้น
6.             เรื่องราวในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น  สภาพแวดล้อมจะต้องเป็นอย่างไร  และอะไรจะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้
7.             อ่านเรื่องนี้แล้วมีความรู้สึกอย่างไร
จะเห็นว่าคำถามนี้ยากเพราะผู้ตอบต้องคิด  การสอนคิดผู้สอนจะต้องสอนบ่อยๆ สอนทุกครั้งที่มีโอกาสกระตุ้นให้คิด  สอนทีละนิดๆ  เพื่อกระตุ้นสมองผู้เรียนให้ตื่นรู้  พอเขาคุ้นชินกับการคิด  เขาจะคิดเป็นระบบได้เอง   อย่ากลัวว่ายากแล้วไม่สอน  จงกลัวผู้เรียนจะคิดไม่เป็นจะดีกว่า
                คำถามเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถามจนครบทุกข้อ  ถามข้อหนึ่งข้อใดก่อนก็ได้  ซักถามด้วยคำถามเหล่านี้แล้วถ้าผู้เรียนตอบไม่ได้   คิดไม่ออก   ผู้ถามหรือสอนจะต้องมีคำถามซอยย่อยมาถามเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมองภาพแคบลง  ชัดขึ้น  เช่น
1.             สัตว์แต่ละชนิดมีความเป็นอยู่อย่างไร
2.             เมื่อมีปัญหาสัตว์เหล่านี้ทำอย่างไร
3.             วงจรชีวิตการเจริญเติบโตของลูกกบเป็นอย่างไร
4.             สภาพภาพในสระ  รอบบริเวณเป็นแบบใด
5.             ประโยคใดบ้างที่บรรยายให้เห็นสภาพแวดล้อมของที่ตรงนั้น
ครูผู้สอนสร้างคำถามหลัก ไว้ก่อนแล้วค่อยสร้างคำถามซอยย่อย  โดยเฉพาะคำถามซอยย่อยที่ผู้สร้างภาพในขณะที่ผู้เรียนคิดหาคำตอบไม่ได้  แต่ผู้สอนคิดคำถามซอยย่อยได้ช่วงนั้น  ผู้สอนจะต้องบันทึกคำถามไว้  เพราะนั่นเหละคือคำถามที่ดีที่จะช่วยคิดสะกิดผู้ตอบให้คิดได้
                การอ่านหนังสือทีละวรรคตอนแล้วมานั่งสนทนา  โดยกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดวิเคราะห์   วิพากษ์วิจารณ์แล้วร่วมกันสรุปแต่ละตอนมาร้อยเรียงเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน   ตกแต่งภาษาให้สละสลวย  ขัดเกลาเรื่องราวให้เข้ารูปรอย  จะเป็นการฝึกการเขียนที่ดี  อย่ากลัวเสียเวลา  เพราะนี่คือการสอนวิธีการอ่านและสอนวิธีการเรียนเขียนเรื่องจากการอ่าน   เด็กไทยขาดประสบการณ์เหล่านี้มาก  จริงๆ แล้วการอ่านวรรณกรรมแล้วนำมาตีความจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวยุคสมัยที่ผู้เขียนเขียนแบบซ่อนเงื่อนงำ ให้ผู้อ่านคิด  เพราะยุคนั้นสมัยนั้นเป็นยุคที่ปิดกั้นทางความคิด   กวีหรือนักเขียนไม่สามารถเขียนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมาก็ต้องใช้วิธีเน้นคำที่จะบอกใบ้ให้ผู้อ่านที่ตีความได้เข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น
                ในปัจจุบันนี้   แม้ว่าข่าวสารต่างๆ มีอิสรภาพมากขึ้นแต่นั่นแหละ  ในอิสระเหล่านั้นยังซ่อนเงื่อนงำแห่งความจริงแท้อยู่อีกมาก  ข่าวต่างๆ ที่นำเสนอมักจะนำเสนอครึ่งเดียว  ครึ่งเดียวของข่าวที่ฝ่ายผู้ให้ข่าวและคนทำข่าว   คนทำเสนอข่าวได้ผลประโยชน์ร่วมตรงนี้แหละ  การวิพากษ์วิจารณ์  การแปลความ  ตีความต้องนำมาใช้   โลกปัจจุบันนี้มีสิ่งซ่อนเร้นอยู่มากมาย   มีการแข่งขันที่สูงมาก   การเอารัดเอาเปรียบมีอยู่ทั่วไป   โดยเฉพาะความไม่พอในหัวใจของผู้คน การศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้เรียนรู้เรื่องราวของโลก  รู้เท่าทันโลกภายนอกและโลกภายในตัวเอง  เรียนรู้ชีวิตที่จะสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข
 

by Suppakrit on Jan 19, 2013

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง