สอนคนให้สนใจภาษา 1 ชาตรี สำราญ
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

บทความนี้ เหมือนกับ จะเป็นตอนต่อ จาก สอนอย่างไร ให้ลูก(ศิษย์)หลาน อ่านหนังสือได้ https://sites.google.com/site/chatreesamran/hnangsux/doc ตั้งแต่ อ่าน มากขึ้น เป็นเรื่องราว จนเขียนหนังสือเล่มเล็ก แล้ว พัฒนา ต่อยอด จนได้ ทักษะในการเรียนรู้ ค้นคว้า หาข้อมูล สังเกตุ ทดลอง วิเคราะห์ เขียน ทำชิ้นงาน จนหมดกระบวนการ เพื่อให้เกิด พฤติกรรมการเรียนรู้ที่เราต้องการ [break]

สอนคนให้สนใจภาษา
จากวารสารวิทยบริการ 
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 พค - สค 2541


การสอนภาษาไทยนั้นเป็นเรื่อง่าย  ใครก็สอนได้  ถ้าสอนให้เด็กรู้จัก จัด  มากกว่ารู้จักจด  ให้เด็กรู้จัก  การจัดการ  ไม่ใช่จดจำคำสอนของครู  เพื่อท่องจำ  ทำข้อสอบ  ไม่ว่าจะสอน มปภ. หรืออะไรก็ตาม  ถ้ามุ่งนำหนังสือจากส่วนกลางมาสอนจะยาก  เพราะ
เล่มหนา เรื่องยาว คำไม่ตรงใจเด็ก ครูผู้สอนลองเขียนเรื่องเอง  ทำหนังสือเอง  ครูเขียนหนังสือสอนเด็กๆ  เรื่องที่ใช้ภาษาง่ายๆ  อ่านวันเดียวรู้เรื่อง  เช่น
ลูกแมว
ลูกแมว               เดิน
ลูกแมว   เดิน   ไป
ลูกแมว   เดิน   ไป   เดิน   มา
ลูกแมว   เดิน   ไป   เดิน  มา   หา   พ่อ
ลูกแมว   เดิน   ไป   เดิน   มา   หา   แม่
ลูกแมว   เดิน   ไป    เดิน   มา   หา   พ่อ   หา   แม่
พอเด็กอ่านได้  ครูก็เพิ่มคำเข้าไป  เป็น  “ไก่”  เด็กก็จะเขียน  “อ่านว่า” 
ลูกไก่
ลูกไก่   เดิน
ลูกไก่   เดิน   ไป
ลูกไก่   เดิน   ไป   เดิน   มา
ลูกไก่   เดิน   ไป   เดิน  มา   หา   พ่อ
ลูกไก่   เดิน   ไป   เดิน   มา   หา   แม่
ลูกไก่   เดิน   ไป    เดิน   มา   หา   พ่อ   หา   แม่
เปลี่ยนคำบ่อยๆ  เป็น  ลูกนก  ลูกช้าง  ลูกหนู  ซึ่งคำเหล่านี้  คือคำที่เด็กๆ  เสนอมาเอง  จะเห็นได้ว่า  คำหรือเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมา  สามารถโยงไปสอนเรื่องสัตว์  ใน สปช. พับสัตว์ได้  วาดรูปสัตว์ได้  ร้องเพลงสัตว์ได้  เต้นท่าทางสัตว์ได้  สอนคุณธรรมจริยธรรมด้วยนิทานเรื่อง  สัตว์จอมขยัน  มดผู้กล้าหาญ  ได้  และเปิดโอกาสให้เด็กๆ  อ่านคำโดดๆ  เช่น
ลูก   เดิน   ไป   มา   หา
แมว   พ่อ   แม่   ม้า
แล้วให้เด็กนำคำเหล่านี้มาร้อยเป็นคำ  วลี   และเป็นประโยคสั้นๆ ใหม่ก็จะได้
ลูกม้า   เดิน
ลูกแมว   เดิน
ลูกม้า   เดิน   หา   ลูกแมว
ลูกม้า   เดิน   หา   พ่อแมว
พ่อม้า   เดิน   หา  ลูกแมว
พอเด็กเขียนได้จะต้องให้เด็กอ่าน  เพราะจะช่วยให้เด็ก  อ่านเป็น  เขียนเป็น   คำเหล่านี้เด็กแต่ละคนจะนำมาเรียงใหม่เป็นเรื่องไม่เหมือนกัน  เราก็จะได้  บทเรียนเขียนโดยเด็ก  เด็กจะเห็นได้ว่า  หนังสือเล่มแรกครูเขียน  แต่เล่มต่อๆ ไป  เด็กเขียน  ก็จะได้หนังสือเรียนที่ดีสำหรับเด็กมากๆ  เด็กจะสามารถสอนเด็ก  ครูคอยอำนวยการสอน  แต่ผลงานบทเรียนเขียนโดยเด็กนั้น  ครูให้เก็บเข้าแฟ้มเป็นผลงานของเด็ก  เขียนมากๆ  มาเลือกเรื่องเด่นได้เป็น PORTFOLIO  โดยที่ครูไม่ต้องเหนื่อย  จะเห็นว่าเราได้งานมาก  คือ
หนังสือเขียนโดยเด็ก PORTFOLIO การประเมินผลแบบ AUTHENTIC ASSESSMENT เด็กพัฒนาการอ่าน  เขียนตามศักยภาพของตน พอเราสามารถยั่วยุให้นักเรียนผลิตผลงานได้ด้วยตนเอง  แล้วเราก็ขยายผลแจกลูก-ผสมคำได้เพราะเด็กต้องการคำใหม่
“ครูครับ  เสือเขียนอย่างไร”
“ลูกเขียน  เรือได้ไหม”
“ไม่ได้ครับ”
ครูเขียน  เรือ  ให้ดูแล้วสอนสะกดคำ  เสือ  เสื่อ  เด็กก็จะได้  เสือ  เสื่อ  เสื้อ  อย่าสอนเด็กมากสับสน  สอนสิ่งที่เขาต้องการ  พอถาม  เหงื่อ
“ลูกเขียน  เหลือ  ได้ไหม”
สอนให้เขียน  เหลือ  เหยื่อ  เหงื่อ  พอแล้วได้ 3 คำ  แต่เด็กได้กระบวนการเรียนรู้  รู้ว่าคำต่างๆ มีกลุ่มคำไม่ใช่คำเดียว  ถ้าอ่าน  เขียนคำหนึ่งได้ก็สะกดหาคำต่อไปได้  ปล่อยให้หาคำจากหนังสือและเรียนภาษาไทยบ้าง  โดยเฉพาะคำอ่านท้ายบทเรียนสิ่งเหล่านี้จะเสริมการสอนของเรามาก  ข้อสำคัญครูอย่าใจร้อน
ผมเคยสอนคำใหม่ให้เด็กเป็นเรื่อง  เรื่องผักสวนครัว  (ชั้นป. 1)  ผมชวนเด็กไปเที่ยวในแปลงเกษตรสวนครัว  พอกลับเข้าห้องเด็กบอกว่า  ผักชีสวนครัว  เด็กพูดได้แต่ยังอ่านไม่ได้  ผมจึงเขียนว่า
ผักชี
ผักชี
ผักชี
ผักชี
เป็นผักสวนครัว
สอนครั้งเดียวเด็กอ่านได้  เปลี่ยนผักอื่นก็อ่านได้  สนุกด้วยสอนอย่างนี้  ทีนี้มีปัญหาว่า  ต่อไปจะสอนอย่างไร
เด็กนั้นมีธาตุรู้  นักเรียนแต่ละคนเขาจะมีผลงานการอ่าน  พอเขาอ่านได้ปล่อยให้อ่าน  ครูอย่าไปคุมการอ่านของเด็ก  เปิดโอกาสให้เด็กอ่านล่วงหน้า  ในห้องเรียนของเรา  บางคนอ่านหนังสือได้แล้ว  บางคนพอจะเริ่มอ่าน  เราอย่าใจร้อน  อย่าสอนให้ทุกคนอ่านได้เท่าๆ กัน  มันผิดธรรมชาติที่ว่าอ่านให้เท่าๆ กัน  คือ  ทั้งห้องสอนอ่านเรื่องเดียวกัน  เสียงดังฟังชัด  แต่อ่านออกจริงๆ  ครึ่งหนึ่ง  ส่วนอีกครึ่งห้องอ่านตามเพื่อน  นั่นคือ  ภาพลวงตา  เราจะพบภาพลวงตานี้ทุกแห่งหน  เพราะการสอนนั้นอยู่บนพื้นฐานของการสอน  กลัวว่าถ้ายอมรับว่า  เด็กอ่านไม่ออก  แล้วครูจะเสียหน้า  ผมเองนั้นสอนเด็กบางคนอยู่ ป.3  อ่านหนังสือ ป.1  ยังไม่ออกก็มี  แต่ผมต้องสอน  สอนเด็ก  สอนคน  ไม่สอนหนังสือ  ผมจึงเลือกวิธีสอนธรรมชาติ  หรือเรียกว่า  สอนแบบอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อ  คือให้ธรรมชาติเป็นหนังสือ  เด็กอ่านจากธรรมชาติ  แล้วเขียนหนังสือขึ้นมา  เขาอ่านเอง  เขียนเอง  เขาก็อ่านได้  นานๆ ไปเขาก็อ่านหนังสืออื่นออก  เพราะทุกคนนั้นมีธาตุรู้ในตนเอง  คือรู้ว่าอ่านได้คำไหน  คำไหนอ่านไม่ได้  เด็กทั้งห้องย่อมจะอ่านออกเขียนได้ไม่เท่ากัน  เพราะมันอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างบุคคลนั่นเอง
เชื่อไหมว่า  เด็กนั้นถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนได้แสดงศักยภาพทาง  การอ่าน  การเขียน  ด้วยตัวของตัวเองแล้ว  เด็กจะดึงศักยภาพของให้เป็นผลงานให้ครูได้อ่านด้วยความภาคภูมิใจในฝีมือการสอนของครู  ถ้าครูมีความเชื่อว่าการจัดการศึกษาคือการพัฒนาศักยภาพของบุคคลแต่ละคน  มิใช่การคัดเลือกหรือการจัดอันดับบุคคล  คือทุกคนจะสามารถอ่านออกเขียนได้ไม่เท่ากัน  และทุกคนมีธรรมชาติการเรียนรู้อยู่ในตัวเอง  ครูจะต้องไม่บังคับให้ทุกคนอ่านได้เท่ากัน  ถ้าใครไม่ทันเพื่อนก็ให้ซ้ำชั้นอยู่นั่นแหละ  มันผิดธรรมชาติ  คนเราย่อมรู้ไม่เท่าทันกัน  คนหนึ่งรู้อย่างหนึ่ง  อีกคนก็รู้อีกอย่างหนึ่ง  เด็กบางคนอ่านหนังสือไม่ค่อยออก  แต่วาดรูปเก่ง  เปิดโอกาสให้เขาวาดรูปตามอิสระ  เสริมให้เก่งทางนี้  เล่นบิลเลียดเก่งยังได้เป็นเศรษฐี  เล่นฟุตบอลเก่งยังได้เป็นเศรษฐี  ต่อยมวยเก่งยังได้เป็นเศรษฐี  เราต้องสร้างสิ่งนี้ให้มีในห้องเรียน  เด็กบางคน  ผู้ชายนะ  ที่โรงเรียนคุรุชนพัฒนาชั้น ป.4  ชอบทำขนมรวงผึ้งขาย  ทำทุกวันเขาเป็นสุข  ครูต้องสอนเขาให้ทำขนมให้เป็น  โตขึ้นก็จะเป็นอาชีพ  ไม่จำเป็นว่าจะต้องจบมหาวิทยาลัย  เพราะมีสิ่งแวดล้อมแค่นั้น  แต่ปัญหาการเลี้ยงตัวเองเขามีมากกว่าที่เห็นในห้องเรียน  เราต้องเปิดโอกาสให้เขา  ส่งเสริมเขา  สนับสนุนเขา  ให้มีโอกาสในการฝึก  ให้เขาทำขนมขายทุกๆ วัน  จนติดเป็นนิสัยที่ดี  ให้เขาทำบัญชี  ให้เขาวิจารณ์ผลงานตนเองในแต่ละวันและให้เขาพัฒนาฝีมือเขา  เขาก็จะเป็นคนที่สมบูรณ์

by Suppakrit on Aug 21, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง