แนวคิดสำคัญในการจัดทำและพิจารณาความเหมาะสมของแผนการศึกษาของครอบครัว (Home School)
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

การจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือบ้านเรียน

มีความแตกต่างไปจากการจัดการศึกษาอย่างในโรงเรียน

เพราะเป็นการศึกษาทางเลือกที่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะเฉพาะของตัวผู้เรียนแต่ละคน หลุดพ้นจากข้อจำกัดของชั้นเรียนขนาดใหญ่ที่มีผู้เรียนจำนวนมาก สามารถใช้โอกาสนี้ไปสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมี “พัฒนาการตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ” ขึ้นมาได้ การศึกษาโดยครอบครัวจึงเป็นการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลายมีความยืดหยุ่นอยู่ในตัวสูง ทั้งในทางเป้าหมายหรือมาตรฐานการเรียนรู้และรูปแบบกระบวนการในการจัดการเรียนรู้ การวัดประเมินผล โดยเป็นไปตามความแตกต่างทางสถานภาพของครอบครัวผู้จัดการศึกษา และลักษณะเฉพาะตัวของบุตรหลานผู้เรียน

แนวคิดสำคัญ

แนวคิดสำคัญที่ควรคำนึงถึง ในการจัดทำและพิจารณาความเหมาะสมของแผนการศึกษาของครอบครัว มีดังต่อไปนี้

แผนการศึกษาของครอบครัวที่ใช้ประกอบคำขออนุญาตจัดการศึกษา คือการที่ครอบครัวกำหนดหลักการ กรอบแนวทาง ในประเด็นที่มีความจำเป็นและสำคัญ ในแต่ละช่วงระยะของระดับการศึกษาที่จะจัดให้กับบุตร โดยการเลือกสรรกลั่นกรองอิงมาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรโรงเรียนสาธิต หลักสูตรโรงเรียนเฉพาะทาง หลักสูตรของนานาประเทศ ฯลฯ หรือมาจากสิ่งที่เป็นนวัตวกรรมทางการศึกษาที่อาจยังไม่มีอยู่ในหลักสูตรใดๆ อย่างเป็นทางการก็ได้ นำมาปรับประยุกต์ร้อยเรียงขึ้นไว้เป็นกรอบชี้ทิศทางในการอำนวยการจัดการศึกษาของครอบครัว ทั้งนี้ โดยที่ไม่ขัดแย้งกับความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ แผนการศึกษาของครอบครัวเป็นแผนการศึกษาเฉพาะตัวผู้เรียนเป็นรายบุคคล การกำหนดเป้าหมาย สาระ และมาตรฐานการเรียนรู้ จึงวางอยู่บนพัฒนาการที่เป็นจริงของตัวผู้เรียน ตามธรรมชาตินิสัยในการเรียนรู้ (Learning Style) แววฉลาดหรือความถนัดความสนใจ (Multiple Intelligence) และอัตราเร่งในการพัฒนาของตัวเด็กเอง ในแผนการศึกษาของครอบครัวพ่อแม่จะมีบทบาทเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้เป็นสำคัญ แผนการศึกษาของครอบครัวจึงควรสะท้อนให้เห็นในเชิงกระบวนการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก (มากกว่าการจัดตารางเรียนเป็นวิชาๆ ) ซึ่งมีทั้งเรื่องราวในบ้านและนอกบ้าน มีทั้งการเรียนรู้ที่ครอบครัวจัดขึ้นโดยเฉพาะและการเรียนรู้จากการเข้าร่วมกลุ่มที่มีมิติในเชิงสังคม การเรียนรู้จากสื่อ จากแหล่งเรียนรู้ จากการเดินทาง จากการสังสรรค์สันทนาการ จากกิจกรรมอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ จากงานอดิเรก เป็นต้น รูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัวทั่วไปจะมีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบผสมผสานกับการศึกษาตามอัธยาศัย มีบ้างที่ครอบครัวจัดแบบการศึกษาในระบบโดยการลงทะเรียนเรียนร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีโปรแกรมการศึกษาแบบ Home School (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ)  การศึกษาโดยครอบครัวไม่ใช่การยกโรงเรียนไปไว้ที่บ้าน แต่เป็นระบบของการบูรณาการ สามารถเรียนรู้ได้จากวิถีชีวิตจริง จากทุกสถานที่ทุกเวลา กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันแปรให้เป็นการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น มุ่งให้โอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งที่สนใจเพื่อการค้นพบแล้วต่อยอดจากธรรมชาติและศักยภาพอันเป็นสภาพจริงของตัวเด็ก หลายๆ ครอบครัวจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการพัฒนาทักษะชีวิตและความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) ที่นำไปสู่คุณลักษณะของการเป็นผู้คิดเป็น คิดแก้ปัญหาได้ เรียนรู้เป็น มีทักษะเครื่องมือสำหรับการเข้าถึงความรู้ติดตัวไปตลอดชีวิต สร้างสรรค์เป็น เห็นปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย เกิดความสุขจากการได้กระทำภาวะที่ถูกต้องดีงาม แผนการศึกษาของครอบครัวไม่ใช่แผนประเภทยึดเอาไว้ตายตัวแก้ไขไม่ได้ แต่เป็นแผนที่มีชีวิตมีพลวัต มีการปรับปรุงพัฒนาเป็นระยะไปตามสภาพจริงของตัวเด็กและครอบครัว จากการที่การศึกษาในแบบของครอบครัวนี้จะมีธรรมชาติที่มีความอ่อนตัวแปรเปลี่ยนได้สูงมาก เช่น ครอบครัวอาจต้องโยกย้ายบ้านช่องหน้าที่การงาน เด็กผู้เรียนอาจอาจอยู่ระหว่างการปรับตัว มีอาการเจ็บป่วย หรืออาจพบภายหลังว่าสภาพความจริงต่างจากที่คาดการณ์ไว้เดิม เป็นต้น แผนการศึกษาของครอบครัวแต่ละระยะจึงควรที่จะวางไว้เป็นแนวทางในลักษณะที่ยืดหยุ่นได้ง่าย สามารถที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินการให้มีความเหมาะสมตรงกับสภาพที่เป็นจริงได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ในสาระสำคัญแล้วไม่ได้ผิดไปจากกรอบแนวทางที่ได้เสนอขออนุญาตไว้

หัวข้อที่ควรระบุในแผน

ตัวอย่างโครงสร้างหัวข้อที่ควรระบุไว้ในแผนการศึกษาของครอบครัว

(1) ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัว

    ชื่อ-สกุล บิดา มารดา วุฒิการศึกษา/ประสบการณ์ อายุ อาชีพ ที่อยู่     สาเหตุของการตัดสินใจจัดการศึกษาโดยครอบครัว

(2) ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน

    ชื่อ-สกุล บุตร อายุ ประวัติการศึกษา     พัฒนาการ ความถนัดความสนใจ ลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

(3) หลักการ/แนวทางในการจัดการศึกษา

    ระดับการศึกษาที่จะจัดในช่วงระยะปัจจุบัน (ก่อนประถม/ประถมศึกษา/มัธยมศึกษาตอนต้น/มัธยมศึกษาตอนปลาย)     จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา/คุณลักษณะที่ประสงค์     แนวทางในการจัดสาระการเรียนรู้     แนวทางในการจัดกระบวนการ/กิจกรรมการเรียนรู้ (เช่น กิจกรรมในบ้าน-นอกบ้าน กิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมโครงงาน กิจกรรมงานอดิเรก/แววอาชีพ กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ การเรียนรู้จากสื่อ การเรียนกับครูพิเศษ/สถานศึกษา/สถานที่ที่มีการจัดสอนบางสาระ การร่วมกลุ่มเรียนรู้กับครอบครัวอื่นๆ เป็นต้น)     แนวทางการวัดและประเมินผล

by กฤดาภรณ์ on Oct 12, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง