ทำงานศิลปะประดับบ้านด้วยฝีมือลูกกัน

ผู้ปกครองหลายท่านคงเคยให้ลูกเล็ก ๆ วาดรูปลงสีต่าง ๆ แล้วสุดท้ายผลงานออกมามืด ๆ ดำ ๆ ดูแล้วไม่ค่อยมีกำลังใจอยากให้ลูกทำอีกหรือเปล่าครับ คิดว่าเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้จะช่วยให้เราอยากทำผลงานต่าง ๆ กับลูกมากขึ้น
[break]
เทคนิคนี้น่าจะใช้ได้ดีสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่งขึ้นไป (หรือแล้วแต่เด็ก)

สิ่งที่ต้องเตรียม

1. เฟรมเปล่า
                 2 – 3 เฟรม เผื่อไว้เลอะทั้งทีทำหลายอันหน่อย (ขึ้นอยู่กับสมาธิของเด็กด้วย) สำหรับขนาดเลือกโดยดูจากผนังบ้านว่าอยากจะประดับรูปไว้ตรงไหน มีพื้นที่เท่าไหร่ แล้วก็เลือกเฟรมให้เหมาะกับพื้นที่ที่อยากประดับผลงานลูก ดูรูปการจัดวาง เฟรมได้ที่นี่ครับ เผื่อจะเป็นแนวทางในการหาซื้อเฟรม คือบางทีซื้อแบบขนาดไม่เท่ากันมาก็ได้ครับ

2. สีอะคริลิค
                        การเลือกชนิดสีอะคริลิค สีอะคริลิคในท้องตลาดมีมากมายหลายราคาและคุณภาพก็ต่างกันไป แต่คิดว่าวัตถุประสงค์เราคือทำรูปไว้ประดับบ้านเลยอยากให้ใช้สีที่มีคุณภาพดีหน่อย จะทำให้ภาพมีสีที่อยู่ได้นานไม่ซีดจาง ที่บ้านเราเคยใช้คือสีอะคริลิค สำหรับทากระเบื้อง แบบไม่มีสารตะกั่วกับสารปรอท เนื้อสีก็ดี และน่าจะทนอยู่เพราะสำหรับใช้กลางแดด แต่เวลาทำผลงานที่มีเนื้อสีเป็นก้อน ๆ เวลาแห้งแล้วจะยุบตัว แตก หรือมีฟองอากาศปรากฏ คือไม่ได้หน้าตาเหมือนตอนทำเสร็จ
หลัง ๆ เลยเริ่มใช้สีเกรดดี ๆ แบบที่คนทำงานศิลปะใช้ แต่ราคาจะสูงหน่อย ที่เลือกสีแบบนี้เพราะ แน่ใจว่าสีจะอยู่ได้นานโดยไม่ซีดจางอยู่ได้เป็น 100 ปี (ถ้าจำไม่ผิด) และตอนทำเสร็จสีเป็นก้อนหนาอย่างไรพอแห้งก็ยังคงเดิม อย่างไรก็ตาม สามารถปรับตามเหมาะสมของแต่ละครอบครัว โดยแรก ๆ เราอาจจะใช้สีเกรดประหยัดก่อนพอเห็นว่าลูกทำผลงานในแบบที่เราชื่นชมได้ก็เริ่มใช้สีที่เกรดดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักคือให้ลูกได้ เล่นกับสี ทำงานศิลปะ โดยเราได้ผลงานประดับบ้าน
·       
เด็กเล็กมาก เราควรจะเลือกสีให้เค้าก่อน  ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงสีที่เป็นคู่ตรงข้ามกันในกรณีที่ลูกยังเล็กมากประมาณสองขวบถึงสี่ขวบจะเป็นวัยขีดเขี่ยอาจจะเล่นจนสีผสมกันจนกลายเป็นสีเทาไปเลย สีเหมือนน้ำล้างพู่กัน  คือทำให้งานดูเลอะ ๆ และเราหมดกำลังใจให้ลูกทำต่อ  เริ่มแรกสำหรับเด็กเล็กเราควรเลือกสีโทนเดียวกันเพราะเวลาสีผสมกันแล้วก็จะทำให้งานยังดูดีสีไม่เน่า เช่นโทนร้อนคือสีที่มองแล้วให้ความรู้สึกร้อนหรืออุ่นเช่นแดง เหลืองเข้ม ส้ม ส่วนสีโทนเย็นมองแล้วรู้สึกเย็นสบายเช่น ฟ้า น้ำเงิน ม่วง เขียว เป็นต้น ลองให้ใช้ทีละโทนสีแล้วค่อยขยับไปเป็นใช้คู่สีตรงกันข้ามหรือโทนสีตรงกันข้าม แล้วสีไหนที่ตรงข้ามกันละ

ลูกโตหน่อย รู้ว่าชอบสีอะไรแล้วก็ควรให้เค้าเป็นคนเลือกสีเองจะดีกว่า ไม่งั้นก็ช่วย ๆ กันเลือก เด็กโตที่พอรู้เรื่องการใช้คู่สีตรงกันข้ามแล้วก็ให้เค้าเลือกใช้สีได้ตามความชอบเลย

รูปแสดงสีคู่ตรงข้าม

ที่มา http://www.cs3.ssru.ac.th/webdesign/user17/at57.jpg

 
3. ชุดที่เปื้อนได้
 
เทคนิคการทำผลงานกับลูก

ผู้ปกครองหลายท่านคงเคยให้ลูกเล็ก ๆ วาดรูปลงสีต่าง ๆ แล้วสุดท้ายผลงานออกมามืด ๆ ดำ ๆ ดูแล้วไม่ค่อยมีกำลังใจอยากให้ลูกทำอีกหรือเปล่าครับ คิดว่าเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้จะช่วยให้เราอยากทำผลงานต่าง ๆ กับลูกมากขึ้น อาจจะดูไปขัดขวางการเปิดกว้างทางความคิด จิตนาการของลูกบ้าง แต่ก็ช่วยให้เราอยากทำผลงานกับเค้าอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งน่าจะดีกว่า

1) การเลือกสีให้ลูก ตามที่เขียนไปแล้วด้านบน คือในกรณีลูกเล็กๆพยายามหลีกเลี่ยงสีที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน หรือถ้าลูกชอบก็เลือกมาแล้วใช้ในสัดส่วน80ต่อ20 ก็ได้ โดยทั่วไปเรามักจะเลือกสีมาตรฐาน 6/ 12 สีตามที่มีวางขายให้ลูก หรือไม่ก็แม่สี 3 สี โดยเฉพาะแม่สี เมื่อผสมกับทั้งหมดแล้วจะออกมืด ๆ ดำ ๆ สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือ เราอาจเลือกสีให้ลูกไว้ก่อน 4 - 6 โดยคุมสีให้อยู่ในโทนที่เข้ากันได้ ไม่ว่าเด็กจะละเลงผสมกันยังไงงานก็ยังออกมาดูดีชื่นใจ เวลาทำก็ให้ลูกเลือกตามใจชอบได้เลย

2) สำหรับเด็กที่ยังเล็กมากเราต้องมีการไกด์ลูกบ้าง แน่นอนเราควรปล่อยลูกทำเอง ลองอย่างที่เค้าอยากทำ ใช้พู่กันใช้มือ ฯลฯ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่างานสวยแล้ว หรือเราชอบ ก็ลองถามเค้าว่าพอหรือยังเสร็จหรือยังลูกงานสวยแล้วนะต้องบอกลูกให้รู้บางทีลูกอาจจะหยุดอันนี้ต้องขอย้ำว่าในกรณีเด็กเล็กมากเท่านั้นแต่ถ้าเค้าอยากทำต่อก็ปล่อยให้เค้าทำต่อจนพอใจเพราะการทำงานศิลปะไม่มีถูกหรือผิดหรอกอยู่ที่ความพอใจมากกว่า ส่วนเด็กโตต้องปล่อยให้เค้าทำตามใจชอบจนกว่าเค้าจะหยุดทำเองจะดีต่อเด็กมากที่สุดเพราะไม่เป็นการปิดกั้นจินตนาการ ควรแนะนำในส่วนที่ลูกลืมระบายถ้าตรงขอบ ๆ ยังว่างเป็นขาว  ๆ ไม่ได้ลงสี ก็บอกชวนให้ลูกทาเพิ่มได้ (ถ้าไม่ทาจริง ๆ เราก็ช่วยทาให้บ้าง) แต่ควรช่วยให้น้อยที่สุด หรือหากมีเทคนิค ขย้ำสี หรือตวัดสีอะไรก็อาจจะนำเสนอให้ลูกลองทำดูก็ได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้งานที่เราชื่นชมไปด้วย ทำแล้ว ทั้งเราและลูกอยากทำอีก ก็ช่วยให้เราได้ชวนลูกทำบ่อย ๆ

3) ทำเสร็จก็ชวนคุย ถามว่าวาดอะไร เราก็จะได้ชื่องานที่ออกมาจากเค้าเอง เราอาจจะเห็นเหมือนเค้าวาดไปมั่ว ๆ แต่จริง ๆ ในใจเค้ากำลังวาดอะไรอยู่ก็ได้ และอย่าลืมเขียนชื่อผลงาน ชื่อลูกและวันเดือนปีไว้ให้ครบหลังภาพทุกครั้ง เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกเมื่อโตขึ้นย้อนกลับมาดูมันมีคุณค่าทางจิตใจมากมายจริงๆ และขอให้ภูมิใจในสิ่งที่ลูกได้ลงมือทำเอง

ผลงานที่ไม่มีสีคู่ตรงข้าม


งานที่มีสีคู่ตรงข้าม จะสังเกตได้ว่ามีจุดเด่นขึ้นมาบนภาพ


เล่าด้วยภาพทีละขั้นตอน

1) เตรียมเฟรมและสี ควรมีกล่องกระดาษแข็ง หรือโฟม (อุปกรณ์เหลือใช้) รองด้านล่างเฟรม เพื่อเวลาทำเสร็จแล้วจะยกไปตากได้ง่าย หากระดาษ ผ้ายางหรือถุงปุ๋ยรองพื้นหากไม่ต้องการให้พื้นเปื้อนสี เพราะสีอะคริลิคจะล้างไม่ออกบนพื้นปูน แต่ถ้าเป็นพื้นกระเบื้องจะขัดออกได้ (ใช้แรงหน่อย)


2) ค่อย ๆ บีบสีลงไปบนเฟรม
 

3) ละเลงได้เลย จะใช้แปรง ใช้เกรียง ใช้มือก็ได้ตามถนัดแล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มสีเข้าไปในภาพ พอลูกมือเปื้อนเราอาจจะต้องช่วยเทสีให้

 
 




4) ชื่นชมผลงาน ชวนลูกหยุดเมื่อเห็นว่าสวย นำผลงานไปผึ่งรอให้แห้ง ต้องระวังฝุ่น แมลง สัตว์เลี้ยงและลูกตัวเองมาเล่น เพราะสีมักเป็นก้อน เวลามีอะไรมาเขี่ยหรือหล่นบนภาพก็ทำให้งานเปลี่ยนไป
  

 

รวมภาพต่าง ๆ (เพื่อให้เห็นแนวทาง)
 
 

 
  
  
 


เอางานไปประดับบ้านได้จริง


ทำกับชิ้นงาน 3 มิติก็ได้ แรก ๆ ตอนเริ่มทำให้ลูกทำกับตุ๊กตาดินเผาก่อน

  


  



  

 
ถ้าใครดูรูปแล้วชื่นชม ไม่อยากให้คิดว่าลูกตัวเองจะทำไม่ได้ แรก ๆ อาจจะไม่ถูกใจเท่าไหร่ แต่พอทำสัก 2 – 3 ครั้งทั้งเราและลูกจะทำงานได้สวยขึ้นและเชื่อว่าใคร ๆ ก็ทำได้ เพราะเราได้ชวนเพื่อน ๆ ลูกมาลองทำด้วยกันแล้ว

รวมภาพผลงานของเด็ก ๆ



 

   

  


  


  


ขอบคุณเด็ก ๆ เพื่อนสีฝุ่นและผู้ปกครองทุกท่านที่ทำให้เกิดงานเขียนชิ้นนี้ 
 
สุดท้ายขอขอบพระคุณครูแหลม แห่งโรงเรียนศิลปะแหลมคม  ที่ทำให้บ้านเรามีศิลปะแทรกซึมอยู่ในชีวิต

 
 
 
 

by Patai on Oct 12, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง