ร.ร.ปัญโญทัย (Home School) โรงเรียนสีหวาน เพื่อการเรียนรู้

ด้วยหวังจะสร้างการศึกษาที่แตกต่าง ร.ร.ปัญโญทัย ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว แม้แต่สถาปัตยกรรมก็ยังถูกออกแบบเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ

ด้วยหวังจะสร้างการเรียนรู้ ที่แตกต่างสำหรับเด็กๆ นายแพทย์พร พันธุ์โอสถ จึงก่อตั้ง ‘โรงเรียนปัญโญทัย‘ ขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในรูปแบบ ‘โฮมสคูล’เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนจำนวนไม่เกินนิ้วนับ ในจำนวนนั้นมีลูกๆ ของ ‘หมอพร’ รวมอยู่ด้วย สถานที่ก็คือบ้านพักในหมู่บ้านปัญญา ถนนพัฒนาการ กระทั่งเมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นๆ จึงต้องขยับขยายมาเช่าใช้โรงเรียนพาณิชย์เก่าแห่งหนึ่งในหมู่บ้านนภาลัย บางนา อยู่หลายปี

2 ปีมานี้เอง ปัญโญทัย มีอาคารสถานที่เป็นของตัวเอง ในอาณาบริเวณ 3 ไร่ ท้ายซอยวัชรพล ย่านรามอินทรา กรุงเทพมหานคร และเมื่อเป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นเอง น่าสนใจตรงการออกแบบก่อสร้างซึ่งไม่เพียงความสวยงามโดดเด่นที่สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน แต่ยังมุ่งตอบสนองต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมปลาย จำนวนกว่า 200 คนในวันนี้

ระบายอากาศดี ไม่มีเชื้อหวัด

ปัญโญทัย‘ เลือกทำเลไกลความวุ่นวายของเมืองและการจราจร แต่ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า การตั้งในซอยลึกช่วยหลบมลพิษทั้งฝุ่นควันและเสียงรบกวน ด้วยพื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งนา และปัจจุบันโดยรอบก็ยังคงเป็น ทุ่งนา ’หมอพร’ บอกว่า การสร้างโรงเรียนเน้นความกลมกลืนกับพื้นที่ จึงสร้างเป็นอาคารชั้นเดียว และเน้นความเป็นธรรมชาติโดยการปลูกต้นไม้ทั่วบริเวณ

“ที่สำคัญ การสร้างอาคารชั้นเดียวเพราะเราไม่ต้องการสิ่งก่อสร้างใหญ่โตโอ่อ่าน่าเกรงขาม สำหรับเด็กๆ เราอยากให้เขาใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายมากที่สุด” หมอพร พูดถึงลักษณะภายนอกที่ต้อนรับผู้มาเยือนเป็นด่านแรกด้วยความโปร่งสบาย ร่มรื่น และเป็นกันเอง

ในส่วนของ ตัวอาคารทรงเตี้ย ซึ่งถูกแบ่งเป็นห้องเรียนและห้องทำกิจกรรม ก็ยังคงรักษาความรู้สึกปลอดโปร่ง ด้วยการออกแบบที่เน้นการระบายอากาศด้วย ช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ รวมทั้งบานประตูที่เลือกชนิดกรุ กระจกใส และมี บานเกร็ด ซึ่งแน่นอนว่าอากาศสะอาดหายใจได้เต็มปอดแบบนี้ เครื่องปรับอากาศซึ่งหมายถึงความจำเป็นของหลายโรงเรียนในเขตเมืองกลายเป็นเรื่องที่ลืมไปได้เลยสำหรับที่นี่

และก็ด้วยอากาศโปร่งๆ ที่มีลมผ่านเข้าออกได้สะดวกแบบนี้ ที่ ‘หมอพร’ ยืนยันว่า โรงเรียนของเขามีปัญหาน้อยมากในยุคที่ไข้หวัดหลายสายพันธุ์ระบาดไปทั่วทั้งเมือง

‘สีสัน’ กับการเรียนรู้ที่แตกต่าง

หน้าต่างบานใหญ่ ประตูโปร่งๆ ที่เปิดไว้ตลอดเวลา ยังหมายถึง แสงสว่างตามธรรมชาติ ที่จงใจดีไซน์ให้ส่องเข้าในตัวอาคารอย่างทั่วถึงมากที่สุด เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าให้แสงสว่าง ยืนยันว่าไม่ใช่คิดเรื่องประหยัดค่าไฟมากไปกว่าการห่วงใยในสุขภาพตาของผู้ใช้สอยอาคาร

“แสงธรรมชาติดีที่สุด เพราะโดยที่เราไม่รู้ตัว แสงจากหลอดไฟมีการกะพริบด้วยความถี่สูงอยู่ตลอดเวลา ไม่ดีต่อสุขภาพตา โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็ก”

ปริมาณแสงที่มากเกินไปถูกกรองด้วยผ้าม่านผืนโปร่งบางเบารับกับสีที่แตกต่างกันภายในแต่ละห้อง

เจ้าของโรงเรียนอธิบาย ถึงการเลือกฉาบเปลือกอาคารด้านนอก ด้วยสีนุ่มนวลอย่าง สีพีช เหลืองอมส้ม ว่าเป็นสีที่สร้างความรู้สึกสมดุล และเหมาะกับเด็กทุกช่วงวัยมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งเด็กๆ ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน

‘วอลดอร์ฟ’ เชื่อในพัฒนาการที่แตกต่างของมนุษย์แต่ละช่วงวัย และนั่นเป็นแนวคิดซึ่งถูกนำมาใช้ในการออกแบบสีสันสำหรับห้องเรียนให้แตกต่างกันตามแต่ละระดับชั้น ได้แก่

อนุบาล- เน้นสีพีช ที่ให้ความรู้สึกอ่อนโยนและสมดุล

ประถม- สีที่ใช้ค่อนไปทางสีร้อนออกแดงเพราะให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉง เคลื่อนไหว และเป็นวัยที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือลงไม้ แต่เมื่อระดับชั้นสูงขึ้น จะเพิ่มปริมาณสีเหลืองขึ้นทีละนิด จนเหลืองเต็มที่ในชั้นประถม 5 ก่อนที่สีเขียวจะแทรกเข้ามาในชั้นประถม 6

มัธยม- เน้นโทนสีเย็น โดยชั้นมัธยมต้น เริ่มที่สีออกเขียวซึ่งติดมาจากชั้นประถมปลาย ไล่ระดับความเข้มไปจนถึงสีน้ำเงิน ก่อนจะกลายเป็นสีม่วงในช่วงชั้นมัธยมปลาย โดยโทนสีนี้ถูกอธิบายว่าหมายถึงความสุขุมเยือกเย็น ซึ่งเหมาะกับช่วงวัยที่เรียนรู้ด้วยการใช้ความคิดและสมาธิเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สีที่พูดถึงอยู่นี้ไม่ใช่เม็ดเข้มๆ ที่ถูกเคลือบลงบนผนัง แต่วิธีการของ ‘วอลดอร์ฟ’ คือการสร้างพื้นผิว (texture) ด้วยการใช้ ฟองน้ำ แทนพู่กัน แต่ละสีสันจะถูกเจือจางให้อ่อนบางจนคล้ายสีน้ำ โดยคุณครูจะมาช่วยกันระบาย (เพราะช่างทำไม่เป็น) จนสีต่างๆ ออกมาบางเบาเหมือนปุยเมฆ ด้านบนมีปริมาณสีน้อยที่สุดจนแทบจะกลืนกับสีขาวของผนังห้อง เพื่อให้ความรู้สึกถึงมิติแห่งจินตนาการ แล้วค่อยไล่ระดับความเข้มจนถึงเข้มที่สุดตรงใกล้พื้นห้อง ซึ่งสื่อถึงความหนักแน่นและการยืนหยัดของการมีชีวิต

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ 

ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่สะท้อนแนวคิดของ ‘ปัญโญทัย‘ ไม่ว่าจะเป็น ตู้-โต๊ะ ซึ่งไม่ได้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมอย่างที่เห็นกันทั่วไป แต่ถูกดีไซน์ให้มีทั้งแบบหลายเหลี่ยม โค้งมน ไปจนถึงฟรีฟอร์มที่ ‘หมอพร’ บอกว่าต้องการสร้างความรู้สึกมีชีวิตชีวา ไม่ใช่แข็งทื่อตายตัว

เช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบที่แม้ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนจะย้ำว่าต้องการให้ดูร่มรื่นเขียวชะอุ่ม แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างความสวยงามเรียบกริบ กับสนามเยินๆ เพราะถูกเด็กๆ วิ่งเล่นซุกซนจนกระจุยกระจายเตียนโล่ง ‘หมอพร’ บอกว่าที่นี่เลือกอย่างหลัง

“แต่เราก็มีช่วงพักเหมือนกัน แบบเดียวกับปิดอุทยานห้ามนักท่องเที่ยวขึ้น ฟื้นฟูต้นไม้สักระยะ แล้วค่อยเปิดให้เด็กๆ ได้เล่นต่อไป ต้นไม้ก็เหมือนกัน ช่วง 2 ปีแรก ยังต้นเล็กๆ อยู่ก็ห้ามปีน เดี๋ยวตายก่อน แต่ตอนนี้อนุญาตให้ปีนเล่นได้แล้ว”

เพราะสำหรับ ‘ปัญโญทัย‘ ทุกการเคลื่อนไหวของเด็กๆ คือการเรียนรู้ ภารกิจของโรงเรียนจึงเป็นการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมพัฒนาการของนักเรียน

รวมไปถึงการออกแบบทางสถาปัตย์ ก็ถูกนำมาตอบสนองต่อภารกิจนี้ด้วยเช่นกัน

‘หมอพร’ ผู้หวังเยียวยาการศึกษาไทย

หลังสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์พร พันธุ์โอสถ ทำงานในโรงพยาบาลและคลินิกมากว่า 10 ปี โดยพุ่งความสนใจไปที่การบริการผู้ยากไร้และเด็กด้อยโอกาส ด้วยประสบการณ์ที่ทำให้ตระหนักว่าการเยียวยาทางกายไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แท้จริง แต่การยกระดับจิตสำนึกของมนุษย์ต่างหากที่จะเป็นการพัฒนามนุษย์ได้อย่างทั่วด้าน

‘หมอพร’ ตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทแนว ‘วอลดอร์ฟ’ (Waldorf) ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาก่อตั้งโรงเรียนปัญโญทัยในปี 2539 เพื่อนำการศึกษาแนววอลดอร์ฟมาใช้กับเด็กไทย พร้อมๆ ไปกับการร่วมผลักดันให้การศึกษาไทยเป็นอิสระเพื่อการพัฒนามนุษย์อย่างแท้จริง จนเป็นผลให้ พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 เปิดกว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา และเขียนคอลัมน์ ‘วัยเด็กดุจสายน้ำ’ ในเซ็คชั่น ‘จุดประกาย’ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลาหลายปี

ปัญโญทัย‘ โรงเรียนที่แตกต่าง

เป้าหมายของ ‘ปัญโญทัย‘ ไม่ใช่เพื่อการผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อป้อนตลาดแรงงาน แต่มุ่งเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมสำหรับชีวิต ที่นี่ไม่มีการติวนักเรียนเพื่อเตรียมสอบเข้า แต่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการมีอิสระทางความคิด การรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และพร้อมที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกเรียนหรือทำงานในสาขาวิชาชีพใด

ปัญโญทัย‘ ไม่สอนอ่าน เขียน คำนวณในระดับอนุบาล ไม่ใช้การสอบเป็นวิธีวัดประเมินผล เพราะด้วยจำนวนเด็กในแต่ละห้องที่มีไม่มาก ครูจึงรู้จักเด็กเป็นอย่างดี และครูประจำชั้นคนเดียวกันจะดูแลเด็กตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.2 ทำให้สามารถติดตามและประเมินพัฒนาการ ความก้าวหน้าของนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิชาการ พฤติกรรม และทัศนคติ

โรงเรียนแห่งนี้เชื่อในพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ในระดับประถม เด็กจะเรียนรู้จากครู ถึงระดับมัธยม โรงเรียนจะจัดเตรียมสื่อการเรียนที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาและพัฒนาการของนักเรียนเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้า ที่นี่ไม่สนับสนุนให้เด็กใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ก่อนชั้นมัธยมปลาย เนื่องจากเชื่อว่ามีผลกระทบต่อเด็กอย่างร้ายแรง ทั้งการทำลายจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาสมอง ไปจนถึงการปลูกฝังทัศนะบริโภคนิยม วัตถุนิยม รวมทั้งปลุกเด็กให้ตื่นตัวเรื่องเพศก่อนเวลา สำหรับ ‘ปัญโญทัย‘ การเรียนรู้ของเด็กควรเป็น ‘ทางตรง’ ก่อนที่จะเป็น ‘ทางอ้อม’ ผ่านสื่อ

ทั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาวัยเด็กไว้กับเด็กให้นานที่สุด ไม่เร่งรัดให้เขาต้องรีบโตเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ก่อนเวลา เพื่อที่เขาจะมีชีวิตวัยเด็กที่สดใส แทนที่จะถูกทำลายด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความบริสิทธิ์ของวัยเด็ก

หมายเหตุ: ข้อมูลจาก www.panyotai.com

ขอบคุณข้อมูล คุณรัชดา ธราภาค /วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552/กรุงเทพธุรกิจ