ถนน 3 เลน ในชั่วโมงเร่งด่วนมักมีเลนที่ 4 ที่ 5 งอกขึ้นมา...พร้อมตาใส
ทำไมการต่อคิวจึงเป็นเรื่องยาก
ทำไมจึงห้ามใจไม่ให้ชะเง้อมองคนข้างหน้าจนแถวเบี้ยวได้
ทำไมผู้ให้บริการไม่กล้าท้วงติง
แค่เหลือบมอง คนถูกแซงจึงต้องออกแรงปกป้องสิทธิ
ทำไมต้องมีเหล็กกั้นช่องคิวอ๋อ ก็เพราะมีคนชอบแซงคิวนี่เอง...ชอบจริงจัง...พร้อมตาใส
สังคมหงุดหงิดกับการแซงคิวตาใสแล้ววิ่งหายไป สักครู่ก็กลับมาพร้อมระบบบัตรคิว ตื่นเต้นกันได้สักประเดี๋ยว คำถามมาอีก...ทำไมจึงไม่เขียนใบฝากให้เสร็จก่อนกดบัตรคิว ฯลฯ
วางใจต่อการแซงคิวพื้นฐานอย่างนี้ อันตราย หากปล่อยให้ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หงุดหงิดมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มที่คนจะพัฒนาการไปสู่การแซงคิวขั้นสูงได้อีกมากมาย
แต่คนดีย่อมมีจิตสำนึกดีต้องไม่ทำเรื่องอย่างนี้สิ...ดูเหมือนส่วนผสมอะไรบางอย่างของความดีจะหายไป
งั้นมาพูดเรื่องคนดีบ้าง สังคมของเราน่าจะอุดมไปด้วยคนดีเพราะที่หน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ ประชากรรุ่นแล้วรุ่นเล่าล้วนผ่านการอบรมนิสัยกริยามารยาท คุณงามความดีจนเหงื่อชุ่มก่อนเริ่มเรียนวิชาแรกทุกวัน
คนดีจะแซงคิวได้ยังไง ไม่เข้าใจ
ดังนั้นแล้วน่าจะทบทวนวิธีอบรมความดีใหม่นะ โลกร้อนมาก เด็กจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
เราต้องเสียเวลาหาตรรกะและเหตุผล...
ฮ้า...ตรรกะ...ใช่แล้ว...ตรรกะที่หมายถึงการหาคำตอบด้วยเหตุและผล
งั้นอีกที...ถ้าเราต้องเสียเวลาหาตรรกะและเหตุผลกับปัญหาพื้นๆในสังคม ที่ก่อเกิดความหงุดหงิด ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วจะเอาพละพลังความคิดที่ไหนไปขบปัญหาลึกลับซับซ้อนกว่านี้เล่า
ถ้าสังคมของเรามีคนดีเยอะๆ...อืม...แค่ดีพอสมควรก็พอ แต่รู้จักตั้งคำถามปลายเปิด เช่น
เราควรแซงคิวหรือไม่
แซงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
น่าจะช่วยลดตัวเลขดัชนีบ่งชี้ "อารมณ์หงุดหงิดมวลรวมแห่งชาติ" ได้เยอะทีเดียว
วิชาตรรกะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ถ้างั้นไปดูเด็กๆเรียนวิชานี้ในโรงเรียนไทยกัน
นั่นปะเล่า อุปสรรคแรกของวิชาเลขคณิตคือ ครูล้วนเนี้ยบ เฉียบ ดุ ราวกับโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน ยืนรออยู่หน้าห้อง แล้วเด็กก็ก้มหน้าก้มตา บวก ลบ คูณ หาร แก้สมการ หาพื้นที่วงกลม ฯลฯ
น่วมเพราะเกร็งกันได้ที่ ก็ไปก้มหน้าก้มตาหาคำตอบที่ถูกต้องในข้อสอบ กดดันซ้ำคนหมู่มากด้วยถ้วยรางวัลหนักกว่านั้น สังคมกลับเห็นดีเห็นงามไปกับรางวัลที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย
ตรรกะที่บิดเบี้ยวตั้งแต่เป็นหน่ออ่อน เรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยความทุกข์ คนไทยจึงหนีไกลคณิตศาสตร์
...สวมชุดชูชีพกระโจนลงมหาสมุทรออกโต้คลื่นข้อมูล ไปพบศาสตราจารย์ David Burghes กำลังวิตกกังวลกับสภาพการสอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ที่ประเทศอังกฤษ
ทึ่งปนอึ้งกับความรู้สึกวิตกกังวลเชิงรุกเลอค่าของเขา
แกะรอยค่อยแซะด้วยภาษาอังกฤษที่แตกฉานไม่ได้ดังใจ อาศัยกำลังภายในแห่งแม่ซะเยอะ
ศาสตราจารย์เดวิดชวนผู้ปกครองไปลองนั่งเรียนกับเด็กชั้นประถม ผู้ปกครองท่านนั้นออกจากห้องมาด้วยหน้าตาที่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกของลูกขึ้นเยอะ เขาบอกว่าคำอธิบายที่ครูใช้มันยากเขายังงง แล้วเด็กเล็กๆล่ะ
ศาสตราจารย์สัมภาษณ์ครูคณิตศาสตร์หลายคน ส่วนใหญ่จะเห็นความตั้งใจดีของคุณครู แต่วิธีการสอนของครูแต่ละท่านยังไม่ใช่วิธีที่จะพาออกจากปัญหาได้
ทำงานคุ้มค่าน่าให้ทุน ศาสตราจารย์พาเราไปตามหาประชากรเก่งคณิตศาสตร์อย่างใจได้ที่ประเทศฮังการี
พาโจทย์คณิตศาสตร์ไปสุ่มถามผู้คนตามท้องถนน พบว่าชาวฮังการีคำนวณได้เร็วมาก แม้แต่คนที่อายุ 50 ที่เร็วเป็นพิเศษคือการคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ ศาสตราจารย์หลอกล่อให้เราอยากรู้ อยากเห็น เดินตามต้อยๆ ไปดูว่าทำไมเครื่องคิดเลขจึงขายยากที่ฮังการี
มาถึงโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ครูใหญ่พูดถึงความวิตกกังวลและการพยายามหาวิธีช่วยให้นักเรียนรักวิชาคณิตศาสตร์
"คิดว่าเรามีจุดอ่อนในการทำให้นักเรียนเข้าใจ เป็นจุดอ่อนเรื่องกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ เพราะต้องสอนซ้ำบ่อยครั้ง เราคิดว่าน่าจะเกิดจากพัฒนาการด้านหลักการและเหตุผล วิธีเดิมที่เราใช้อยู่อาจไม่ช่วยให้ความรู้ฝังรากลึกพอ"
น้ำตาจะไหลเมื่อเห็นความวิตก ว่าความรู้ที่ให้เด็กจะตื้นเขิน โทษวิธีการสอนของตนเอง ไม่สงสัยปริมาณไอโอดีนที่เด็กได้รับ หรือสั่งให้ดื่มนมเยอะๆ
ไปดูเหตุการณ์ในห้องเรียน ครูใหญ่คนเดิมกล่าวต่อไปว่าวิธีการเรียน ที่ให้เด็กช่วยเหลือกัน โดยให้พวกเขาออกมาแสดงผลงานหน้าชั้นแล้วอธิบาย ไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูกได้ผลเกินคาด
ที่เธอปลื้มเป็นพิเศษคือเด็กที่มุ่งหน้าจะปูเสื่ออยู่หลังห้องในตอนแรก ยังม้วนเสื่อแล้วลุกขึ้นมาร่วมวงกับเพื่อน
ในที่สุดศาสตราจารย์เดวิดก็ได้ข้อสรุปคุ้มค่าภาษีออกมาว่า "ผมเชื่อว่าจุดอ่อนที่เป็นสาเหตุและทำให้เกิดวิกฤติการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สามารถแก้ได้ด้วยการผลักดัน 4 ข้อต่อไปนี้ และพ๊มจะนำกลับไปใช้ที่ประเทศของพ๊มคือ
1. ให้ใช้คำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ให้ถูกต้อง
2. กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล
3. การสื่อสารระหว่างกัน
4. การสอนที่สนุกสนาน
ตัดฉากมาถึงตอนที่นำความคิดก้อนนี้ ไปปรึกษากับครูผึ้งที่บ้านเพลิน กัลยาณมิตรผู้มีลูกชายขวบวัยเดียวกันแม้น้องวินจะเรียนในระบบแต่ความคิดของสองบ้านก็สอดคล้องกัน
นั่งคุยกันตรงที่ลมเย็นพัดผ่านใต้ร่มลิ้นจี่ เราเห็นตรงกันว่าคณิตศาสตร์เป็นส่วนผสมของชีวิตที่ขาดไม่ได้อยากให้ลูกรักวิชานี้ และปรารถนาให้ระบบการศึกษาเคารพการตัดสินใจของเด็กว่าต้องการเรียนไปถึงขั้นไหน
เมื่อมีบทสนทนาวิชาการเด็ก ไอสไตน์จะได้รับเชิญมาร่วมวงเสมอ วงเราก็ไม่เว้นเช่นกัน ตอนหนึ่งเรารู้สึกประทับใจ เมื่อพูดถึงคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ไอสไตน์ใช้แก้ปัญหาฟิสิกส์ที่เขาหลงรัก
แล้วตา 2 คู่ของเราก็โตขึ้นพร้อมกัน...ไอสไตน์เริ่มเรียนเมื่ออายุ 11ขวบ และไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเขาเคยสอบแข่งขันทางวิชาการใดๆ
...ว่าแล้ว 2 แม่ก็รุดไปกระทรวงศึกษาฯ เอ๊ย..ไปชวนครูอังนักศึกษาคุรุศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ปีที่ 4 มาจับเข่าคุย ครูอังฟังเราว่าด้วยลังเลเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง...เถอะครูอังจ๋า...เราท้าทายให้ใช้สวนกว้างบ้านเพลินเป็นห้องเรียน ช่วยกันร่ายเวทย์เพื่อให้เธอกล้าใช้ทักษะที่มีกับลูกเรา
ในที่สุดเธอก็เคลิ้ม ยอมปลดตัวเองครึ่งที่ถูกกรอบเหนี่ยวรั้งไว้ กระโดดร่วมวงกับเรา
คือที่มาวิชาคณิตศาสตร์ในสวนของเด็กชายวัย 6 ขวบสองคน
คณิตศาสตร์กับทักษะชีวิต ที่จะทำให้เด็กรู้สึกดีดีกับวิชาคณิตศาสตร์
by Stream on Apr 02, 2014
Posted in ไม่มีหมวดหมู่