1 พฤศจิกายน 2564 วันที่ศาลอาญาได้สั่งลงโทษ เบนจา อะปัญ ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลาหกเดือน
“หนูสงสัยว่าเราสามารถตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ได้จริงเหรอ
แท้จริงกฎหมายเป็นของใคร เป็นของประชาชน เป็นของผู้ปกครอง หรือเป็นของใคร
ผู้พิพากษาที่ได้นั่งอยู่บนบัลลังก์นี้มาจากไหน
ใครอนุญาตให้เขามีสิทธิในการชี้ชะตาชีวิตของมนุษย์
ใครให้สิทธินั้นแก่เขา และเขาตัดสินสิ่งเหล่านั้น
ในนามของประชาชน ในนามของตนเอง ในนามของผู้ปกครอง
หรือในนามของใครบางคนที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก”
เบนจาได้จดเอาไว้ให้กับทนายความของเธอ เพื่อที่จะสื่อสารความรู้สึกของเธอแทนตัวเธอเอง
“เขาสั่งให้ฝากขังเพื่อนเราด้วยมาตรา 112 ที่โคตรจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพและไม่เป็นธรรมมากๆ เพื่อนเราถูกขังด้วยมาตรา 112 เรามาเรียกร้องให้เพื่อนเราโดนดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลไปด้วย ถ้าผู้พิพากษาตัดสินผิด เราเรียกร้องอะไรได้ไหม ถ้าผู้พิพากษาเป็นแบบนี้เราเรียกร้องอะไรได้”
เบนจารู้สึกโกรธที่คำพิพากษาได้บอกว่าการกระทำของเธอนั้นคือความรู้สึกส่วนตัวทั้งสิ้น ทั้งที่เธอกำลังตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม
และศาลยังบอกว่าการที่เบนจาใช้สิทธิต่อสู้คดีของตนนั้นเป็นการไม่สำนึกในการกระทำความผิด
ก่อนที่จะถูกนำตัวมาฝากขังนั้น สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ออกหมายจับเบนจา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวเบนจาหลังเข้ารายงานตัวในอีกคดีหนึ่งที่ สน.ลุมพินี ในวันที่ถูกควบคุมตัวเบนจาไม่ยอมเดินออกไปจากหน้า สน.ลุมพินี เหมือนกับตอนที่ ศาลอาญาตัดสินให้เบนจามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เบนจาก็ไม่ยอมเดินจากห้องพิจารณา
"ที่หนูไม่ยอมเดิน เพราะตั้งแต่เขาออกหมายจับเรา ตั้งแต่เขาตัดสินเรา ตั้งแต่เขาใช้กฎหมายมาควบคุมสิทธิของเรา หมายความว่าเราแทบไม่เหลือสิทธิอะไร เรามีสิทธิน้อยลงทุกที การไม่เดินคือการใช้สิทธิที่หนูพึงกระทำได้อย่างหนึ่ง และหนูเห็นว่าการไม่เดินไม่ได้เป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่ การไม่เดินเป็นการประท้วงอย่างสันติวิธีแทบจะที่สุดแล้ว ไม่ได้ไปกระทบกระเทือนใคร นั่นคือสิ่งที่หนูจะทำได้มากที่สุดในฐานะบุคคลหนึ่งที่ถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างในชีวิต"
"ถ้าคุณคิดว่าคุณมีกฎหมาย แล้วเอากฎหมายมาลิดรอนสิทธิขนาดนี้ ฉันก็จะใช้สิทธิของฉัน เท่าที่ฉันมี เท่าที่ฉันเหลืออยู่อย่างเต็มที่”
เบนจายังติดใจในวิธีการให้คำตัดสินและพิจารณาที่ไม่ต่างจากการพิจารณาคดีแบบลับๆในความเห็นเบนจา
"หนูไม่ได้ชอบอยู่ในคุกหรอก แต่ต้องอยู่มันก็อยู่ได้ แต่ที่หนูโกรธเมื่อวาน คือ สิ่งที่เขาตัดสินเรา คำพูดที่เขาตัดสินเรา กล่าวหาว่าเราทำให้เขาเสื่อมเสียเกียรติ ถามจริงๆ ว่าไม่มีเราสักคน ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเกียรติภูมิของผู้พิพากษายังเหลือจริงๆ หรือ ไม่มีใครทำลายเขา (สถาบันตุลาการ) ได้ เท่ากับที่เขาทำลายตัวเอง แล้วมันไม่ใช่ความคิดเราคนเดียว หนูอยากเอาคำเบิกความที่สืบในห้องพิจารณาออกมาให้สังคมรับรู้ ว่าสังคมคิดอย่างไร ไม่ใช่เขานั่งคิดเองเออเองบนบัลลังก์"
“การพิจารณาก็แทบจะเป็นการพิจารณาลับ เวลาหนูทำอะไร หนูไม่เคยทำในที่ลับ หนูทำในที่แจ้งให้สังคมรับรู้ตลอด แต่ในห้องพิจารณาศาลสั่งห้ามจดและจำกัดคนเข้า โดยอ้างว่าจะทำให้เสียหาย การไม่ให้จดไม่ต่างจากการพิจารณาลับเลย”
by Numthang on Nov 05, 2021
Posted in ร่องรอยการเรียนรู้