ทำไมถึงคิดทำโฮมสคูล
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
เป็นครั้งแรกที่เขียนบันทึกภาษาไทยในหลายปี ออกติดขัดอยู่บ้างก็ต้องขอโทษด้วยค่ะถ้าภาษาออกมาแปลกๆ หรือติดไทยคำอังกฤษคำ เขียนอะไรที่ไม่เป็นแนวเทคนิคอลไม่ค่อยเก่งด้วยสิคะ...[break]

บันทึกว่าทำไมถึงคิดจะทำโฮมสคูลลูก คิดย้อนหลังไปมันก็ต้องเท้าความกันอีกนาน เอาแบบย่อๆ (แล้วนะ) แล้วกันนะคะ จริงๆ กับครอบครัวของเรามันขึ้นอยู่มากเลยกับวิถีชีวิตของเรา
เราเป็นครอบครัวที่ไม่ไหม่ เป็นครอบครัวสองวัฒนธรรม ตะวันออกเจอตะวันตก ลูกเราเกิดในประเทศที่เราพูดภาษาเขาแทบไม่ได้เลย แถมหลังจากนั้นช่วงที่ลูกเราต้องเริ่มเข้าเรียนระดับอนุบาลเราก็ย้ายประเทศอีก (ทำให้เราเรียนรู้ว่าการที่ต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆ ขณะที่ลูกยังเล็กเป็นสิ่งที่ไม่ดีมากนัก) ประเทศที่เราย้ายมาอยู่ใหม่ (ฮ่องกง) เป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูง วัตถุนิยมสูง ทุกคนเกิดมาต้องแข่งขันตั้งแต่เด็กไปจนโต แต่ครอบครัวเราค่อนข้างรักความเป็นส่วนตัว เรียบง่าย ไม่แข่งขัน เราเลยรู้สึกได้เลยถึงแรงกดดันตอนย้ายมา แต่เดิมเราก็ไม่เคยคิดส่งลูกไปเรียนระดับเตรียมอนุบาลเพราะเราคิดว่าลูกยังเล็กไปน่ะค่ะ และยังมีความวิตกกังวลในการต้องแยกจากพ่อแม่ (separation anxiety) เราอยากให้เป็นไปตามธรรมชาติมากกว่า ไม่อยากบังคับ แต่พอย้ายมาที่นี่สถาณการณ์มันเปลี่ยนไปค่ะ ตอนไปสมัครเรียนที่นี่ตอนนั้นลูกอายุ ๓ ขวบ โรงเรียนที่มีให้คนต่างชาติเรียนมันก็ไม่ได้ว่ามีเยอะขนาดนั้น สาเหตุที่ไปสมัครก็เพราะมีแต่คนกรอกหูว่าลูกของเธอจะไม่มีที่เรียนถ้าไม่สมัครเนิ่นๆ เพราะตอนนี้ฮ่องกงมันบูมมาก ตอนนั้นโรงเรียนต่างๆ เขานัดเราไปคุยและเรามักได้คำวิจารณ์ประเภทว่า "ลูกคุณอายุมากเกินไปแล้ว ที่นี่ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เนิ่นๆ ตอนนี้เต็ม ลูกคุณอยู่ใน waiting list ถ้าคุณอยากให้ลูกมีที่เรียนก็ต้องมา "เข้าในระบบ" ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้การันตีที่ได้" หรือ "ลูกคุณอาจมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเพราะลูกคุณอายุมากไปแล้ว"​ ต่างๆ นานา แถมโรงเรียนไม่ง้อไม่สนเลยเพราะมี waiting list อยู่ยาวเป็นหางว่าวแล้ว เราก็เริ่มเครียดค่ะ เครียดมากเรื่องห่วงลูกว่าจะปรับตัวไม่ได้เพราะเพิ่งย้ายที่อยู่และต้องมาเข้าโรงเรียนเลย และกลัวจะหาที่เรียนไม่ได้ด้วยค่ะ

จนซักพักเราก็ไปพบโรงเรียนที่เราว่าดีที่สุดสำหรับเราแล้ว เป็นโรงเรียนเปิดใหม่มีนักเรียนไม่กี่คน แถมเป็นแนวทางเลือกแบบเรกจิโอ (เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้ เลยไปลองค้นดู​อ่านแล้วปรากฎว่าชอบมากค่ะกับแนวทางของเขา) เรียนไปเรียนมาโรงเรียนกลับกลายเป็นแนววอลดอล์ฟมากขึ้นๆ (เราก็ไม่รู้นโยบายจริงๆ ผู้บริหาร แต่อย่างว่าตอนนั้นพ่อแม่ต้องง้อโรงเรียนมาก สงสัยมากนักก็ไม่ต้องมาเรียน อะไรทำนองนี้) แต่ตอนนั้นเห็นลูกมีความสุขดี ก็เลยไม่ได้คิดมากอะไร เราก็เฝ้าดูอาการลูกอย่างเดียวว่าถ้าลูกมีความสุขเราก็โอแล้ว แต่ผ่านจากนั้นไปราวสองเดือน ลูกก็เริ่มไม่ค่อยมีความสุข เดาไม่ออกว่าทำไมค่ะเพราะยังไม่ค่อยพูด ถามก็ไม่ตอบ พอดีปิดภาคอีสเตอร์เดือนเมษาพอดี สังเกตว่าเขาเริ่มมีความสุขที่ได้อยู่บ้านขึ้น (และเราก็เริ่มโฮมสคูล follow up โรงเรียนด้วยแต่ทำแนวต่างกัน ลูกก็ตอบสนองดีค่ะ) เราเลยมานั่งคิดนอนคิดว่าเกิดอะไรขึ้น เลยได้ทฤษฎีนี้มาว่าอะไรก็ตามที่ทำซ้ำๆ เดิมๆ โดยไม่เปลี่ยน (และแถมไม่ทำก็คงไม่ได้อีก)​ ก็อาจทำให้เขาเบื่อได้ เป็นไปได้ว่าลูกเริ่มชินกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่โรงเรียนโดยที่ทางโรงเรียนไม่ได้มีการเพิ่มสิ่งเรียนรู้ใหม่ๆ เข้าไปทันกับความต้องการของลูก กิจกรรมไม่ได้ถูกจัดให้หลากหลายเลยทำให้เขาเริ่มเบื่อ (เพราะเรารู้ว่าลูกเรามีนิสัยขี้เบื่อค่ะและต้องการความแตกต่าง ซึ่งคงเป็นกระบวนการการเรียนรู้โดยธรรมชาติของเด็กด้วย) สังเกตได้ว่าหลังๆ ไม่ค่อยมีงานที่ทำที่โรงเรียนมาอวดแม่มาก อันนี้เราไม่ได้ว่าโรงเรียนบกพร่องนะคะ เขาคงทำดีที่สุดแล้ว มันเป็นที่นิสัยของลูกเราด้วยค่ะ

 

ในระหว่างที่ลูกอยู่โรงเรียน เราก็สังเกตสิ่งที่แตกต่างในเรื่องกิจวัตรระหว่างเราและลูกขึ้นมาได้อย่างชัดเจน ปกติเราจะทำกิจกรรมกับลูกมาก ออกไปเที่ยว ไปชายหาด ไปพิพิธภัณฑ์ ไป playroom ห้องสมุด สนามเด็กเล่น ฯลฯ ถ้าเบื่อก็ดูทีวีบ้าง ทำอะไรก็ได้ขอให้มีความสุข แต่ตั้งแต่ไปโรงเรียน เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้หายไปเกือบหมดเลย (แต่กลายเป็นดูทีวีมากขึ้นที่บ้านเพราะดูเหนี่อยค่ะหลังจากกลับจากโรงเรียนและเหมือนเป็นสิ่งเดียวที่อยากจะทำ) และปรากฎไม่ค่อยได้มีเวลาได้เจอพ่อเลยตั้งแต่ไปโรงเรียนทั้งๆ อยู่บ้านเดียวกันเพราะต้องนอนเร็วมากๆ

 

สรุประยะเวลาการเรียนรู้นี่อยู่ที่โรงเรียนอย่างเดียวจริงๆ (คือถ้าโรงเรียนพึ่งไม่ได้เรื่องการเรียนรู้ของลูกก็เป็นอันว่าจบกันค่ะ) 

 

คนรู้จักที่นี่บอกเราว่าเดี๋ยวลูกก็ชินไปเอง เราโอเว่อร์เซนซิทีฟ โรงเรียนหลายๆ ที่ก็บอกเราเหมือนกันว่าเด็กๆ ต้องชินกับกิจวัตรที่โรงเรียน ถ้าเขาจะไม่ "ชิน"​ จะทำให้ปรับตัวยากแต่เดี๋ยวก็ปรับได้ คือมันก็จริงของเขานะ เด็กทุกคนถ้าลงให้ถูก "ล้างสมอง" (อาจเป็นคำที่แรงไปหน่อยค่ะ แต่บางที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ) เมื่อไหร่เมื่อนั้นเขาก็ปรับตัวให้เข้ากับที่เขาต้องอยู่ได้ไปเอง คือถึงเขาไม่ชอบ เขาก็จะชินกับมันไปเอง (ส่วนเราก็ต้องปรับตัวให้ชินกับความคิดแบบนี้ด้วยค่ะ) เราเลยเริ่มรู้สึกว่าเราจะหาโรงเรียนที่มันเลิศเลอเพอร์เฟ็ตให้ลูกเราได้ไม๊นะ จริงๆ เราไม่ได้คิดว่าการไปโรงเรียนสักสองสามวันต่ออาทิตย์มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลยนะ เราอยากได้อย่างนี้ด้วยซ้ำค่ะ ส่วนวันที่เหลือเรามาโฮมสคูลเองที่บ้าน ทำทริป ไปเรียนรู้กันเองในสิ่งที่โรงเรียนให้ไม่ได้ เราคงมีความสุขมาก อีกหน่อยถ้าลูกเลือกที่ชอบจะไปโรงเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์เราก็โอนะ อะไรก็ได้ขอให้เป็นทางเลือกที่เขาชอบและเขาเลือกเอง

 

หลังอีสเตอร์ลูกไม่ได้กลับไปโรงเรียนสามีเราต้องไปทำหน้าที่อีกประเทศหนึ่ง เราเลยมีความจำเป็นต้องตามไปด้วย ตอนนั้นเป็นช่วงที่ดีมากเลยเพราะสามีทำงานน้อยลงกว่ามากที่นั่น (ปกติงานรัดตัวมากถึงเต็มใจทำหรือไม่ก็ตาม) เลยเริ่มรู้สึกว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือการที่พ่อ แม่ ลูกได้อยู่ด้วยกันเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก มันมีค่ามากกว่าเวลาที่ใช้อยู่ในโรงเรียนมากเป็นไหนๆ ซะอีก ช่วงนั้นเลยเริ่มทำข้อมูลเกี่ยวกับอันสคูล (unschool) กับโฮมสคูลมากขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่ใจ ร้อยเปอร์เซนต์เพราะพ่อเขายังติดงาน แต่ก็ดูเหมือนเจ้าตัวอยากเบรคเหมือนกันค่ะ คิดกันว่าถ้าจะอันสคูลอยากมาทำที่เมืองไทยเพราะค่าใช้จ่ายต่ำ และเราอยากสอนลูกกับตัวพวกเราเองด้วยให้อยู่อย่างพอเพียงได้ค่ะ และเราก็ไม่ได้ใช้เวลาให้ครบทั้งพ่อแม่ลูกมากซักเท่าไหร่ตั้งแต่ลูกเกิดเพราะความจำเป็นในหน้าที่การงานค่ะ แต่ความคิดนี้ก็สลับไปสลับมากับความไม่แน่ใจ (และก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ค่ะ) แล้วเราก็มาเจอเพจของพวกเราค่ะ เลยทำให้รู้สึกดีว่าอย่างน้อยมีหลายครอบครัวที่คิดคล้ายๆ เรา และอันสคูลหรือโฮมสคูลไม่ได้จำกัดแต่ในต่างประเทศ ทำให้รู้สึกว่าถ้าต้องไปอยู่เมืองไทยนานๆ เราก็ไม่ได้ตัวคนเดียวค่ะ

 

ลืมเล่าไปอีกอันคือระหว่างกลับมาไทยหลังทริปติดตามพ่อไปทำงาน (มาซ่อมบ้านถูกน้ำท่วม)​ เราก็พยายามมาหาโรงเรียนให้ลูกอยู่นะเพราะยังสองจิตสองใจ แต่ยิ่งดูยิ่งอยากทำโฮมสคูล การเยี่ยมโรงเรียนพวกนี้ทำให้เรารู้ว่าระบบการเรียนของเมืองไทยมีพื้นฐานอยู่ที่การป้อนซึ่งไม่เหมาะกับครอบครัวเรา (คุณครูออกแบบกิจกรรมให้เด็กหมดเลย แถมยัง dictate อีกต่างหากว่าต้องทำยังไง) งานศิลปะของเด็กหลายคนออกมาดีเกินไป ดีกว่าที่เด็กสามขวบจะทำได้ มันไม่เป็นธรรมชาติเลย มีอยู่โรงเรียนนึง บอกเราว่าเขาสอนเด็กด้วยว่าต้องขึ้นลงชิงช้ายังไง (เด็กสามขวบครึ่งแล้วอ่ะ) เราเลยเงียบแล้วขอตัวลาออกมาค่ะ คิดๆ อยู่ว่าถ้าลูกเราไปเรียน คงกลับมาบ้านถามทุกคำถามว่าจะทำงานง่ายๆ ชิ้นนึงต้องทำอย่างไร เราไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนั้นเลยค่ะ

 

ช่วงนี้กลับมาฮ่องกง กำลังสองจิตสองใจว่าจะให้ลูกกลับไปโรงเรียนดีไม๊​ คือถ้าเขายอมให้ไปแค่สามวันต่ออาทิตย์นะ ที่เหลือจะทำโฮมสคูลเอง แต่ความรู้สึกของเรามันคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็โฮมสคูลต่อไปค่ะ

 

แต่ลืมบอกไปค่ะ ตอนนี้ถามลูกว่าจะไปโรงเรียนไม๊​เขาบอกอยากไปค่ะ แต่ "ไม่ไป"​ถ้าต้องไปทุกวัน พ่อกับแม่เลยยิ้มๆ

 

เอาไว้มาเล่าต่อค่ะ ไม่รู้เมื่อไหร่เพราะคงยุ่งอีกหลายวัน