เริ่มต้นทำ homeschool #11 สิทธิในการจัดการศึกษา
การนำลูกออกมาทำบ้านเรียน แต่ละคนมีความคิดหรือความคาดหวังที่แตกต่างกัน บางคนออกมาด้วยความจำเป็น เช่นลูกเจ็บป่วย หรือต้องย้ายถิ่นที่อยู่หรือไม่สะดวกในการเไปเรียน หรือกระทั่งไปก่อเรื่องก่อราวมา ...ตอนทำบ้านเรียนใหม่ๆ พอบอกออกไปว่าลูกเรียน homeschool มีคนถามด้วยว่า "ลูกของพี่ไปต่อยใครมาเหรอ" จนงงไปแวบหนึ่ง พอถามไถ่ใจความถึงได้เข้าใจว่าในความคิดของคนถาม homeschool มีได้สองสาเหตุคือไปก่อเรื่องแล้วโดนไล่ออก หรือท้อง
 
การนำลูกออกมาทำบ้านเรียน แต่ละคนมีความคิดหรือความคาดหวังที่แตกต่างกัน บางคนออกมาด้วยความจำเป็น เช่นลูกเจ็บป่วย หรือต้องย้ายถิ่นที่อยู่หรือไม่สะดวกในการเไปเรียน หรือกระทั่งไปก่อเรื่องก่อราวมา ...ตอนทำบ้านเรียนใหม่ๆ พอบอกออกไปว่าลูกเรียน homeschool มีคนถามด้วยว่า "ลูกของพี่ไปต่อยใครมาเหรอ" จนงงไปแวบหนึ่ง พอถามไถ่ใจความถึงได้เข้าใจว่าในความคิดของคนถาม homeschool มีได้สองสาเหตุคือไปก่อเรื่องแล้วโดนไล่ออก หรือท้อง
 
นอกจากนี้อีกลุ่มก็อาจจะเป็นคนที่รู้สึกไม่โอเคกับโรงเรียนในระดับที่เลือกได้ คืออาจจะโอเคกับโรงเรียนแพงๆ แต่มันแพงไง หรือไม่โอเคกับโรงเรียนเก่า ไม่โอเคกับครูบางคน กระทั่งไม่โอเคกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งบางคนก็อาจจะย้ายโรงเรียนมาแล้วและพบว่ายังไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ ก็เลยออกมาทำบ้านเรียน
 
รวมถึงกลุ่มที่ต้องการส่งเสริมอัจฉริยะภาพของเด็กเฉพาะทางไม่ว่าจะเป็นศิลป ดนตรี กีฬา หรือแนววิชาการต่างๆ หรือเชื่อมั่นว่าสามารถจัดสภาพแวดล้อมและการศึกษาให้กับเด็กที่ดีกว่าการนำไปเข้าโรงเรียนได้
 
อาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูจะเป็นส่วนน้อยหน่อยคือ ไม่เข้าโรงเรียนเพราะพ่อแม่ทุกคนมีสิทธิที่จะส่งลูกเข้าหรือไม่เข้าโรงเรียนก็ได้ ตราบที่ยังสามารถ "จัดการศึกษา" ให้กับเด็กอย่างเหมาะสมได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องดีมากกว่าหรือดีน้อยกว่าโรงเรียน แค่ว่าจัดการศึกษาได้ตามสมควร ซึ่งหลักสูตรการศึกษาไทยก็ไม่ได้ตั้งเป้าไว้สูงมากแต่ประการใด การจัดการศึกษาให้ได้ตามเป้าของกระทรวงศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยหรืออนุบาล และช่วงประถม จะเพิ่มเป้าของครอบครัวหรือเป้าของเด็กเข้าไปอีกหน่อยก็พอไหว การเข้าหรือไม่เข้าโรงเรียน เป็นทางเลือกที่กฎหมายเปิดไว้ให้เพื่อความสะดวกและเหมาะสมกับประชาชนทุกคนอยู่แล้ว และมีกฎหมายนี้ออกมาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นในทางหนึ่งการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือบ้านเรียน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดมากหรือต้องมีเหตุผลมากมายอะไร หรือต้องมีเหตุผลไปอธิบายอะไรกับใคร
 
ในทางกลับกันโดยส่วนตัวเคยลองตั้งคำถามกลับเพื่อชวนกระตุกต่อมคิดด้วยซ้ำว่า "คุณมีปัญหาอะไรหรือเปล่าถึงเลี้ยงลูกเองไม่ได้ ต้องส่งลูกไปให้โรงเรียนเลี้ยงให้" ทั้งๆ ที่เด็กเล็กจะเจอหลายปัญหาทันทีที่เข้าโรงเรียนตั้งแต่ป่วยบ่อย ร้องไห้ด้วยว่ายังไม่คุ้นกับการแยกจากพ่อแม่ และบางคนก็ร้องได้เป็นเดือนเป็นปี หรือปัญหาอื่นๆ อีกมากจากการนำเด็กมารวมๆ กัน ...แต่พ่อแม่หลายคนก็ไม่สามารถเลี้ยงได้ เพราะต้องทำงานกันทั้งครอบครัวบ้าง ไม่มีญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้บ้าง หรือแล้วแต่เหตุผลที่จะยกกันขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการส่งเด็กๆ ไปโรงเรียน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าในหลายๆ ชุมชน หลายๆ พื้นที่ การไปเข้าโรงเรียน อาจจะเป็นการดีกว่าสำหรับเด็กๆ ที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา หรือไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ...แต่ถ้าพ่อแม่ก็มีความรู้ดี มีครอบครัวที่ดี และสามารถจัดการชีวิตได้ในระดับหนึ่งหรือ "เลือก" ที่จะดูแลครอบครัวเอง ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบโรงเรียน โดยไม่จำเป็นต้องมีปัญหามาก่อน หรือไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอื่นๆ แค่ว่าเลือกได้ ก็เลือกเอาทางหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนคนที่เลือกไม่ได้หรือไม่ได้คิดว่าเลือกได้และไม่ได้คิดจะเลือก การส่งเด็กเข้าโรงเรียนก็เป็นทางออกที่ง่ายดี
 
ซึ่งพอพูดถึงกระบวนการ "เลือกได้" นี้ ทางออกก็จะมีหลากหลายทันทีเลย เพื่อจัดการกับสิ่งที่เป็นปัญหา เช่นถ้าพ่อแม่ไม่ว่าง แต่พอมีเงินทองบ้าง จะจ้างครูมาช่วยดูแล หรือรวมกับหลายๆ บ้านในชุมชน จ้างครูมาดูแลเองได้ไหม ซึ่งจะสามารถทำให้จัดการศึกษาได้อย่างยืดหยุ่นและใกล้ชิดกว่า หรือกระทั่วพึ่งพาองค์กรทางศาสนา ในหลายๆ ที่เด็กไปเรียนกับวัด เรียนกับโบสถ์คริสต์ เรียนกับผู้นำศาสนา หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในท้องถิ่น ด้วยเนื้อหาหรือสาระการเรียนที่หลากหลายแตกต่างกันไป ล้วนเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ทั้งสิ้น และสามารถจัดการให้ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายได้ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อแม่ก็คงต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องราวหรือกระบวนการเหล่านี้ไปพร้อมกับการเติบโตของลูกด้วย
 
ส่วนถ้าส่งเข้าโรงเรียน ...ก็ไปตามแนวทางของชีวิตโรงเรียน บางคนพอส่งลูกเข้าโรงเรียนก็จบ มีหน้าที่แค่หาเงินมาส่งเป็นค่าการศึกษาของลูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบปริญญา หรือบางคนก็อาจจะขยันหน่อยช่วยดูแลเรื่องการบ้าน การติว การเตรียมตัวสอบ การเข้าเรียนต่อ ชีวิตก็จะเดินตามเส้นทางนี้ไป ก็สะดวกดี มีเพื่อนร่วมทางเยอะ
 
บทนี้ถือว่ามาประชาสัมพันธ์สิทธิการจัดการศึกษาโดยครอบครัวก็แล้วกันครับ คือเราทุกคนมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาให้กับลูกหลานได้ (ยากง่ายต่างกันบ้าง) ซึ่งแน่นอนว่าทำได้ไม่ได้บอกว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ต้องทำหรือไม่ต้องทำ และไม่ได้รับรองงว่าชีวิตจะง่ายดาย แต่...เราทำได้ และได้รับสิทธิ์ให้ทำ ให้จัดการศึกษาโดยครอบครัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอื่นใด แค่ว่าอยากเลี้ยงลูก อยากดูแลลูกเอง ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว
 
แต่กระบวนการจะยากจะง่าย ก็ฝ่าฟันร่วมกันไปครับ ถ้าคิดมากตั้งแต่แรกก็ไม่ได้ทำ หรือจะท้อถอยเสียก่อน หรือคิดว่าส่งลูกเข้าโรงเรียน ตัดปัญหา จบ ก็คิดได้...ซึ่งสำหรับคนที่ดูแลลูกดีอยู่ ก็จะพบว่าไม่จบและไม่ง่ายหรอก ชีวิตในโรงเรียนก็ยังยุ่งกับชีวิตของพ่อแม่อยู่อีกเยอะ ตั้งแต่ไปรับไปส่ง ดูแลเรื่องการบ้าน หาที่ติวให้ เลือกแผนการเรียน เลือกโรงเรียน "ดีๆ" ฯลฯ
 
 
ต้นฉบับ https://www.facebook.com/HomeUnschool/posts/2439521226099305



by Jo on Jun 13, 2019

Posted in คู่มือโฮมสคูล, เรื่องเล่าโฮมสคูล

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง