คำนำ
หนังสือเรื่อง “ รู้และเข้าใจการสอนอีกมุมหนึ่ง” เล่มนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อประกอบการบรรยายเรื่องการวัดและประเมินผลสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เมื่อบรรยายแล้วเห็นว่าน่าจะพิมพ์เผยแพร่ด้วย จึงจัดพิมพ์เผยแพร่แก่ผู้รับฟังการบรรยายของผม
หวังว่าหนังสือเล่มนี้ คงมีคุณค่าต่อคุณครูผู้อ่านนะครับ
ชาตรี สำราญ
ถ้าเราเข้าใจกฎของอิทัปปัจจยตา และหรือกฎของปฏิจจสมุปบาท เราก็จะเข้าใจความสืบเนื่องเชื่อมต่อของสรรพสิ่งทั้งหลายทางธรรมชาติภายในโลกนี้ ดังคำที่กล่าวไว้ว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” ทั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ถ้าเราเพ่งพิศให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่า ในแผนการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนนั้น จะมีความสืบเนื่องเชื่อมต่อระหว่างจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง ซึ่งร้อยรัดกันดั่งเป็นสายโซ่ที่เชื่อมโยงจากประเด็นหนึ่งไปสู่อีกประเด็นหนึ่ง และไม่สามารถทำให้ขาดช่วงหรือผิดร่องรอยแตกกลุ่ม แตกพวกออกไปได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ถ้าทุกอย่างไม่ต่อเนื่องกัน
หัวข้อต่าง ๆ ในการจัดทำแผน (การจัดกิจกรรม) การเรียนรู้ แต่ละข้อเฉกเช่น ภพ ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จากจุดเริ่มต้น คือ จุดประสงค์การเรียนรู้สู่การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ดังนี้
จุดประสงค์การเรียนรู้คือ เป้าหมายหลักของคุณครูผู้สอน ที่จะเป็นเครื่องชี้ทำนำทางพาศิษย์เดินไปด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ดังนั้น ในจุดประสงค์การเรียนรู้คุณครูจะต้องวิเคราะห์แยกย่อยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใด เพียงใด ต้องการให้ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการเรียนรู้ใด หรือต้องการให้ผู้เรียนทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ต้องการให้ผู้เรียนเกิดคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยม หรือเกิดความรู้สึกนึกคิดในด้านใด เพียงใด
(โดยส่วนใหญ่ เวลาที่เราสอนลูก เราก็ไม่ได้เขียนออกมาแบบนี้ แต่น่าจะอยู่ภายในใจของเรา ว่าเราอยากได้ อยากให้รู้อะไร เพียงใด)
ประเด็นที่แตกย่อยทั้ง 3 ข้อนี้ ถ้าหากครูผู้สอนระบุไว้ชัดเจนเห็นได้ชัดก็จะง่ายต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งเป็นโซ่ร้อยเชื่อมต่อข้อต่อไป คือ การวัดและประเมินผล
การวัดและประเมินผล เมื่อก่อนนี้คุณครูผู้สอนมักจะนิยมเขียนกันง่าย ๆ พอได้ชื่อว่าเขียนแนวทางการวัดและประเมินผลไว้ในแผนการสอนหรือแผนการเรียนรู้แล้วว่า
ครูสังเกต ครูสัมภาษณ์ ครูตรวจแบบฝึกหัดหรือผลงาน ครูตรวจข้อทดสอบแต่ถ้าถามต่อว่า ครูสังเกตอะไร แบบใด มีเกณฑ์การสังเกตอย่างไรบ้าง รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ไม่มีการบันทึกเอาไว้ ทุกอย่างอยู่ในหัวใจครูผู้สอนเจ้าของแผนการเรียนรู้เพียงผู้เดียว ก็เท่านั้นเอง( ตรงนี้ บางบ้านเรียนก็ไม่ได้บันทึกไว้ แต่หากสามารถเขียนออกมาได้ แม้จะไม่ละเอียดนัก จะทำให้สะดวกต่อการประเมินผลปลายปีครับ) แต่ถ้าคุณครูผู้สอนเข้าใจถึงกฎของอิทัปปจจยตาหรือ ปฏิจจสมุปบาทแล้ว คุณครูผู้สอนจะสามารถเชื่อมโยงการวัดและประเมินให้ร้อยรัดกับจุดประสงค์การเรียนรู้ได้อย่างเหมาะเจาะงดงาม ดั่งภาพที่พอจะมองเห็นได้ในขณะนี้ คือ
ตารางที่ 1 ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้
ตารางที่ 2 ตัวอย่างกรณีความสอดรับกันระหว่างการวัดและประเมินผลการเรียนรู้กับพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงในขณะที่เกิดการเรียนรู้ได้ (ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่า ความรับผิดชอบ การปฏิบัติ) (สนใจ ดูใน web ตาม link ข้างบนครับ)
การวัดผลและประเมินผลนั้น คุณครูต้องดูที่จุดประสงค์ว่าต้องการให้ผู้เรียน รู้ ทำและเกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน ถ้าคุณครูพลิกกลับไปดู “ ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้” ที่ทำเป็นตัวอย่างในบทที่ 1 แล้วนั้น คุณครูก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนว่า จุดประสงค์การเรียนรู้ต้องการอะไร ซึ่งเราผู้สอนก็ต้องวัดและประเมินผลสิ่งนั้นให้ปรากฏภาพมาตอบจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ได้ ( ส่วนใหญ่ เราไม่ได้ สนใจในจุดการวัดผลและประเมินผลนี้สักเท่าไหร่ เรียนรู้และสอนกันตามสภาพจริง วัด ประเมินผล จากสิ่งที่เห็น ไม่ค่อยมีแบบทดสอบ แต่อย่างน้อย ก็ขอให้มีการเก็บร่องรอย ที่เด็ก หรือ ผู้สอนบันทึกไว้บ้างครับ)
สิ่งที่คุณครูพึงรำลึกไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่วัดผลการเรียนรู้นั้น คุณครูจะต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญคือ
1. จะต้องมีจุดมุ่งหมายของการวัดผลระบุไว้ให้ชัดเจนว่า จะวัดอะไร จะวัดในสถานการณ์ใด จะวัดไปทำไม
คำถามทั้ง 3 ข้อนี้จะช่วยให้คุณครูเดินทางได้ตรงเป้าและเส้นทางที่ปรากฏในภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์กับการวัดประเมินผลที่แสดงผ่านมานั้นจะตอบคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ได้ ทั้งนี้คุณครูผู้สอนต้องเขียนระบุคำตอบเหล่านี้ให้ชัดเจนใน “สิ่งที่ผู้วัดและประเมินผลต้องค้นหาให้พบ” ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยให้คุณครูทำงานได้ตรงทิศทาง ถ้าเราไม่เขียนไว้ให้ชัดเจนก็จะลืมได้ การลืมส่งผลให้วัดผลได้ไม่ตรงประเด็นเท่าที่ควรจะทำให้ข้อมูลที่ได้มาขาดความน่าเชื่อถือ
2. เมื่อคุณครูรู้ว่า เราจะวัดอะไร ในสถานการณ์ใดและวัดไปทำไมแล้ว คุณครูต้องกำหนดเครื่องมือการวัดให้ตรงกับงานที่ต้องการใช้ เช่น แบบสัมภาษณ์ ข้อสอบ มาตรการประเมินค่า แบบการสังเกต พร้อมกับมีเกณฑ์คะแนนที่ชัดเจนด้วย
3. เมื่อคุณครูวัดผลได้มาแล้ว อย่าลืมว่า ความสำคัญของการวัดผลนั้นอยู่ตรงที่คุณครูนำผลที่วัดได้มาแปลผลและนำใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน ตรงนี้สำคัญมาก
ส่วนในการประเมินผล นั้น เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัด การประเมินผลจะต้องอาศัยข้อมูลจากการวัดที่เป็นปรนัย กล่าวคือ มีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้ หรือในบางครั้งการประเมินผลต้องอาศัยการ “สังเคราะห์ข้อมูล” จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาตัดสินคุณค่าของสิ่งนั้น โดยคุณครูสามารถอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนอีกเช่นกัน คือ
ข้อมูลจากการวัด การตีความหมาย การกำหนดคุณค่าตามเกณฑ์มาตรฐานนั่นแสดงว่า การวัดกับการประเมินจะมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะคุณครูประเมินผลได้ดี มีผลที่น่าเชื่อถือได้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากการวัดมาตีค่าความหมายแล้วกำหนดคุณค่าว่า ดี ดีมาก น่าพอใจ มากน้อยเพียงใด โดยอาศัยเกณฑ์มาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
คำถามสำคัญที่คุณครูจะต้องน้อมรำลึกอยู่เสมอทุกครั้งที่เตรียมการสอน ลงมือทำการสอนและเมื่อสอนเสร็จแล้ว คือ “สอนทำไม และผู้เรียนจะได้อะไร หรือผู้เรียนจะนำไปใช้ประโยชน์ที่ใดได้บ้าง” คำถามนี้คือข้อที่คุณครูควรสำเหนียกไว้ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะเป็นกุญแจสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (หากเราเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต หรือในชีวิตประจำวัน ก็จะสามารถตอบโจทย์นี้ได้ง่ายครับ แต่หากจุดประสงค์เพื่อการเพิ่มทักษะบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ก็อาจจะต้องประเมินว่าลูกจะได้รับหรือไม่ครับ )
สอนทำไม จะควบคู่ไปกับวัดและประเมินผลทำไม คุณครูต้องค้นหาประโยชน์ของการวัดและประเมินผล คำถามแรกนี้เป็นคำถามที่จะนำคุณครูให้คิดวางแผนการวัดและประเมินผล ข้อต่อไปได้ ถ้าคุณครูตอบได้ว่า “วัดและประเมินผลทำไม” แล้วคุณครูจะสามารถเขียนจุดประสงค์ของการวัดและประเมินผลได้ตรงเป้าหมาย ชัดเจนและง่าย
ในการวัดและประเมินผลนั้น คุณครูส่วนใหญ่จะวัดและประเมินผล 3 ช่วง ของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครั้งหนึ่ง ๆ คือ ก่อนสอน ระหว่างสอน และหลังสอน
การวัดและประเมินผลก่อนสอน นั้นเพื่อที่จะจัดวางตำแหน่งของผู้เรียนว่า ใครอยู่ในกลุ่มการเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อน เพื่อง่ายต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน(บ้านเรียนไม่ค่อยมีปัญหา เรารู้จักลูกของเราอยู่แล้ว)
การวัดผลประเมินผลระหว่างสอน นั้นเพื่อที่คุณครูผู้สอนจะได้ดูว่า ผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่มพัฒนาการเรียนรู้ขึ้นมาในระดับใด มีด้านใดที่ต้องเติมเต็มให้อีก เพราะหน้าที่ของครูคือ
เติมเต็มให้รู้
เติมดูให้เห็น
เติมเล่นให้เรียน
เติมเขียนให้อ่าน
แล้วเด็กจะสร้างผลงานให้ครูเห็นได้ (ตรงนี้ขึ้นกับความสามารถของผู้เรียนและผู้สอน ส่วนใหญ่น่าจะผ่าน)
การวัดและประเมินผลหลังสอน เป็นการสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนว่า พัฒนาขึ้นมาเพียงใด และสรุปผลการสอนของคุณครูว่า กิจกรรมใดที่ผู้เรียนนำใช้แล้วเกิดการเรียนรู้ กิจกรรมใดที่ทำให้ผู้เรียนสับสน ต้องแก้ไขต่อไป การวัดและประเมินผลหลังสอนจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินผลสัมฤทธิ์ทางระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย (ส่วนใหญ่ เราก็ ทำกัน ในใจอยู่แล้ว แต่หากบันทึกไว้ก็จะดี อาจจะมีบันทึกกการประเมิน จากเด็กด้วย ก็ยิ่งดีครับ)
เมื่อคุณครูสามารถค้นหาคำตอบมาตอบคำถามที่ว่า “วัดและประเมินผลทำไม” แล้ว คุณครูต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “วัดและประเมินอะไร” นั่นหมายถึงว่าคุณครูต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่า “จะประเมินอะไรของผู้เรียน” เพราะการจัดการเรียนรู้นั้น ในครั้งหนึ่ง ๆ ผู้เรียนจะเกิดผลการเรียนรู้ อาจจะหลายด้านแต่เราผู้สอนจะประเมินด้านไหนของผู้เรียน เช่น
1. ด้านสติปัญญาของผู้เรียนที่เกี่ยวกับความรู้ ความจำ ความคิด การแก้ปัญหาต่าง ๆ
2. ด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น ความสนใจ ทัศนคติ ค่านิยม คุณธรรม
3. ด้านทักษะกระบวนการและการปฏิบัติ เช่น การเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของกล้ามเนื้อ วิธีการศึกษาเรียนรู้การนำทักษะการเรียนรู้ทักษะหนึ่งทักษะใดมาใช้ในการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่าวิธีการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้
เมื่อคุณครูได้คำตอบชัดเจนแล้วว่าจะวัดและประเมินผลอะไร คำถามที่ถามมาคือ จะวัดและประเมินผลอย่างไร นั่นคือ คุณครูต้องคำนึงถึง วิธีการ ว่าจะดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างไร คุณครูจะต้องคิดออกแบบเครื่องมือที่จะนำมาใช้วัดและประเมินผล คิดถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการ รวมถึงวิธีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นสุดท้ายที่คุณครูจะต้องค้นหาคำตอบคือ จะต้องถามว่า “จะตัดสินด้วยวิธีใด” นี่เป็นหัวใจของการวัดและประเมินผล เพราะข้อสำคัญของการประเมินผลนั้น คุณครูจะต้องตั้งเกณฑ์ การวัดประเมินผลให้ชัดเจน พอที่ใครก็ตามมาตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน มาตีความหมายผลการวิเคราะห์สามารถนำผลการวิเคราะห์ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์กลุ่มหรือเกณฑ์ระดับความสามารถหรือระดับทักษะที่กำหนดไว้ได้อย่างเที่ยงตรง เชื่อถือได้
เวลาวิเคราะห์มาตรฐานช่วงชั้นแต่ละรายข้อนั้น เราควรวิเคราะห์ออกมาให้เห็นภาพชัดเจนว่า มาตรฐานข้อนั้น ๆ ต้องการให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะด้าน
1. ความรู้ ความเข้าใจ ความจำ ความคิดและการแก้ปัญหาต่าง ๆ เรียกว่า ด้านสติปัญญา
2. คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ความสนใจ ทัศนคติ ในด้านใดบ้าง มากน้อยเพียงใด เรียกว่า ด้านอารมณ์และความรู้สึก
3. ความสามารถในเรื่องอะไร มากน้อยเพียงใด วิธีการศึกษาเรียนรู้ การนำทักษะการเรียนรู้ ทักษะหนึ่งทักษะใดมาใช้แก้ปัญหาการเรียนรู้ เรียกว่า ด้านทักษะกระบวนการและการปฏิบัติ
เพราะข้อมูลทั้ง 3 ข้อนี้จะโยงใยสัมพันธ์ถึงการกำหนดรูปแบบการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่จะนำสอน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยที่คุณครูควรคิดคำถามขึ้นมาถามเพื่อค้นหาคำตอบ เช่น
1. รัฐต้องการจะให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องอะไร (K)
2. รัฐต้องการจะให้ผู้เรียนปฏิบัติอย่างไรบ้าง (P)
3. รัฐต้องการจะให้ผู้เรียนเกิดนิสัยถาวรด้านใดบ้าง (A)
คำถามทั้ง 3 ข้อนี้ คุณครูนำไปค้นหาคำตอบจากมาตรฐานช่วงชั้น แล้วแยกออกให้ละเอียด แสดงไว้ในผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เมื่อคุณครูได้ภาพงาน (K,P,A ) ชัดเจนแล้ว จะช่วยให้คุณครูนำเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ได้ชัดเจนเช่นกัน (โดยส่วนใหญ่ ครอบครัวไม่ค่อยจะมาจนถึงขั้นนี้ครับ ศน ก็ ไม่ค่อยจะมาประเมินเช่นกัน มักจะเป็นการประเมินโดยรวมเสียมากกว่าครับ)
by Suppakrit on Aug 22, 2012
Posted in ไม่มีหมวดหมู่