การวัดและประเมินผล 2 ชาตรี สำราญ
(จากตรงนี้ไป สำหรับผม  ผมมองในประเด็นของ ทักษะ ที่ต้องการให้เรียนรู้ครับ  เด็กแต่ละคน แต่ละชั้น แต่ละครั้งของกิจกรรมการเรียนรู้  ก็จะเน้นที่ทักษะที่แตกต่างกันออกไป  ท่านที่ไม่อิงหลักสูตร ก็น่าจะได้ ในส่วนของวิธีคิด วิธีมองและสนับสนุนให้เกิดทักษะนั้นๆ  แต่เราก็สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มเติม ทักษะ ที่ต้องการเน้นในแต่ละกิจกรรมได้ตามความสนใจและความเหมาะสมครับ  อ.ชาตรี ได้แจงให้เห็นระดับความแตกต่าง ของเด็ก แต่ละชั้นไว้ด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็ก อาจจะเรียนรู้ได้มากกว่าที่คาดก็ได้ครับ สำหรับเรื่องของสาระความรู้ ส่วนใหญ่เราก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก อาจจะไม่ได้ วางแผนอย่างเป๊ะๆ ครับ เพราะเป็นการเรียนรู้จากความจริงที่เห็นอยู่ครับ)[break]

ในมาตรฐานช่วงชั้นนั้น  มักจะกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้ชัดเจน  หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งว่า  “มาตรฐานช่วงชั้นจะกำหนด ทักษะกระบวนการเรียนรู้ไว้ชัดเจน  พร้อม ๆ กับ กำหนดสถานการณ์เรียนรู้ไว้ด้วย”  เช่น

                     “สังเกต  สำรวจ  ตรวจสอบ  เปรียบเทียบ  ความแตกต่างระหว่างมีสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต  โครงสร้างและหน้าที่ของโครงสร้างต่างๆ  ของพืชและสัตว์ในท้องถิ่น ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน”

                ลองพิจารณาดูให้ดีว่า  ทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดให้นั้น จะมีความเนื่องต่อกันอย่างลูกโซ่  ที่ผู้สอนจะต้องฝึกฝนผู้เรียนให้คนรอบคอบ คือจะต้องเป็นนักสังเกตที่ลุ่มลึกไม่ใช่มองผ่าน ๆ อย่างผิวเผิน  ต้องเพียรพินิจเจาะลึก  สำรวจ ตรวจสอบ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบ ระหว่างกันเพื่อที่จะหาว่า

สิ่งที่เราเรียนรู้อยู่นั้นมีสิ่งใดร่วมกันบ้าง สิ่งที่มาร่วมกันนั้น มีจุดใดที่สำคัญมากที่สุด สิ่งที่มาร่วมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง สิ่งที่มาร่วมกันนั้นมีหลักเกณฑ์  หลักการอะไรร่วมกันบ้าง

(การพัฒนา การเรียนรู้ ควรจะต้องใช้เวลา ภายใต้ความต่อเนื่อง สนุกที่จะเรียนรู้ ไม่เป็นการจับใส่ หากผู้เรียนไม่พร้อม ไม่เน้นที่เนื้อหาความรู้ หรือ ทักษะ แต่น่าจะเน้นที่ความสนุก ความน่าสนใจ ภายใต้ความสนใจที่จะเรียนรู้ แต่ค่อยๆ ซึมซับทักษะและเนื้อหาความรู้)
นั่นคือ ทักษะที่แฝงเข้ามาในทักษะการสำรวจ การสังเกต การตรวจสอบ  การเปรียบเทียบ โดยเฉพาะสองทักษะหลังนี้ ประเด็นคำถามทั้ง  4  ข้อ นั้นสามารถนำมาใช้ได้ นั่นคือ ผู้เรียนจะต้องดึงทักษะการวิเคราะห์มาพินิจพิจารณาข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด  ถอดรหัสออกว่า มีอะไรร่วมกันบ้าง  นำมาเปรียบเทียบให้เกิดความชัดเจน  สร้างหลักเกณฑ์และหลักการพิจารณาให้ชัด  เมื่อได้ข้อมูลมา สามารถนำมาสังเคราะห์ จัดหมวดหมู่ สรุปเป็นตำราวิชาการของผู้เรียนที่เขียนมาด้วยตนเองได้

                ส่วนเรื่องราวที่นำมาเรียนรู้นั้น เรียกว่า สถานการณ์ หมายความว่า ทั้ง  4  ทักษะคือ การสังเกต  สำรวจ  ตรวจสอบ  เปรียบเทียบนั้นผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ในสถานการณ์ของเรื่องสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต  ที่จะต้องดูให้ลึกถึงสถานการณ์ของ

     ความแตกต่าง

   โครงสร้าง

    หน้าที่ของโครงสร้าง

ของพืชและสัตว์ในท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต  ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน

                นั่นหมายถึงว่า  ในสถานการณ์(เรื่องนั้น  ผู้เรียนจะต้องใช้กลวิธีเรียน ที่จะสามารถสืบค้นข้อมูลมาได้โดยการสังเกต  สำรวจ ได้มาแล้วต้องตรวจสอบ แล้วนำข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วมาเปรียบเทียบ เมื่อได้ผลสรุปมาก็ดำเนินการวิเคราะห์  สังเคราะห์  สรุปเป็นองค์ความรู้  จัดทำเป็นตำราเรียนเขียนด้วยผู้เรียน “เอง”

                องค์ความรู้ใหม่นั้น หมายถึง การที่ผู้เรียนไปสืบค้นข้อมูลความรู้ด้วยทักษะการเรียนรู้ ที่ตนถนัดหรือที่ได้รับการมอบหมายแล้วนำข้อมูลความรู้นั้น วิเคราะห์  เจาะลึกเรื่องราวสนใจใคร่รู้  แล้วนำมาสังเคราะห์ข้อมูลความรู้เหล่านั้น   จนกระทั่งเกิดอาการลุกโพลง ขึ้นเป็นปัญญาของผู้เรียน  ตัวลุกโพลงที่เป็นปัญญาของผู้เรียนนี่แหละ คือ ความรู้ใหม่หรือองค์ความรู้ของผู้เรียนคนนั้น  ไม่ใช่มาจากการบอก  จด  จำ แต่มาจากการกระทำด้วยตนเองจริง ๆ  จนรู้อย่างแจ่มแจ้งเฉพาะตน  เป็นความรู้ใหม่ที่ซ้อนทับกับความรู้เดิมที่มีอยู่  กลายเป็นว่าผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ที่ต่อยอดออกมาจากเรื่องราวความรู้เดิมที่ตนมีอยู่ก่อนแล้ว  เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้เรียนก็จะเป็นผู้รู้จริง ๆ จะสามารถอธิบายได้ว่า

                1.  สิ่งที่รู้เพิ่มขึ้นมากับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วนั้น  มีสิ่งใดที่ร่วมกันบ้าง ร่วมกันอย่างไร

                2.  สิ่งที่ร่วมกันนั้น มีจุดสำคัญตรงไหน  แบบใด

                3.  สิ่งที่หรือข้อมูลเดิมกับข้อมูลใหม่ที่เราเรียนรู้ได้นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

                4.  สิ่งที่มาร่วมกันนั้นมีอะไรเป็นหลักเกณฑ์และหลักการร่วมกัน

มาถึงตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่มีการเรียนรู้มีทักษะหนึ่งที่ผู้เรียนจะต้องนำใช้ตลอดเวลา  คือ ทักษะการวิเคราะห์ ผมคิดว่า ทักษะนี้เราต้องฝึกฝนให้เป็นนิสัยการเรียนรู้ ของผู้เรียน

 ผมได้ลองเก็บข้อมูลทักษะการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับการกำหนดให้เรียนรู้ในมาตรฐานช่วงชั้นที่ 1-3 ในสาระวิชาวิทยาศาสตร์อย่างคล่าว ๆ ดังนี้

                ทักษะการสังเกต  ทักษะการสำรวจ  ทักษะการสืบค้น  ทักษะการทดลอง  ทักษะการเปรียบเทียบ  ทักษะการตรวจสอบ  ทักษะการอภิปราย  ทักษะการอธิบาย

                ทักษะการวิเคราะห์  ทักษะการสังเคราะห์  ทักษะการประเมินค่า  ทักษะการนำใช้  ทักษะการจัดกลุ่ม  ทักษะการบันทึกข้อมูล  ทักษะการตั้งคำถาม  ทักษะการวางแผน  ทักษะการสร้างสถานการณ์

                ทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณครูจะต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง  สามารถนำใช้ในชีวิตจริงได้จริง ๆ  คุณครูจะต้องฝึกฝนจนผู้เรียนเกิดความช่ำชอง สามารถนำทักษะหนึ่งทักษะใดมาใช้ในชีวิตจริงได้ตรงกับสถานการณ์นั้น ๆ 

                ทักษะกระบวนการเหล่านี้  ผู้เรียนสามารถนำไปใช้เฟ้นหาความรู้ที่ตนต้องการได้

                โลกปัจจุบันนี้  ความรู้มีอยู่มากมาย  เรียนรู้ได้ไม่หมด  และความรู้นั้นเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ  ถ้าหากผู้เรียนมีความสามารถในการนำทักษะการเรียนรู้มาใช้เฟ้นหาความรู้ตามที่ตนต้องการได้ก็เหมือนกับแพทย์แผนโบราณเดินเข้าไปในป่าสมุนไพร  โดยที่ตนมีความรู้ความชำนาญ ด้านการเลือกใช้ตัวยาสมุนไพรจากพืชในป่าเหล่านั้นจะสามารถนำมาเลือกเด็ด  ดึงต้นยามาใช้ได้ตรงกับโรค  ได้ตรงกับจุดประสงค์

                มาถึงตรงนี้ก็จะมีคำถาม ถามว่า “จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้เรียน  สามารถเรียนรู้ลักษณะกระบวนการเหล่านี้ได้ ตรงตามสถานะของผู้เรียนแต่ละกลุ่มแต่ละคนได้”  คำถามนี้มีความสำคัญมาก สำหรับคุณครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะถ้าสามารถฝึกฝนให้เยาวชนของชาติรู้วิธีการเรียนรู้ได้จริงแล้ว  ก็เท่ากับจัดการกับชีวิตการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ครึ่งหนึ่งและนั่นหมายถึงว่า จำเป็นแล้วที่จะต้องฝึกให้ลูก  หลาน  ลูกศิษย์ของเรา  เรียนรู้วิธีการเรียนรู้

                การที่จะฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ได้นั้น ผู้สอนต้องตอบคำถามได้ว่า  จะรู้เพียงใด  อย่างไร  ตรงนี้สำคัญมาก  เพราะความชัดเจนของระดับการเรียนจะส่งผลสู่ความชัดเจนของระดับการวัดประเมินผล

                ผมเองนั้นได้ออกแบบการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของกิจกรรมการเรียนรู้หรือวิธีการเรียนรู้ แต่ละตัว  แต่ละระดับเอาไว้  ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างให้ดูเพียงตัวอย่างเดียว คือ

 

ตารางที่  3   ตัวบ่งชี้ของพฤติกรรมการเรียนรู้ทักษะการสังเกต

 

ชั้น ป.1
 

ดู แล้วสอบถามชื่อ
    ของสิ่งที่ดู

ดู อย่างพิจารณา
   เปรียบเทียบความ
   สูง –ใหญ่ เล็ก-
   บาง-หนา หรือ
   รูปร่างลักษณะ
   ของสิ่งนั้น

ดู ความแตกต่าง
   ของสิ่งที่ตั้งใจดู

ดู สภาพที่อยู่อาศัย
   ลักษณะที่ตั้งของ
   สิ่งนั้น

นำสิ่งที่ตั้งใจดูมาบอกเล่า/วาดรูปหรือนำภาพถ่ายมานำเสนอ

 

ชั้น ป.2
 

ตั้งใจดู สิ่งทีกำหนดให้แล้วสืบค้นชื่อของสิ่งนั้น

ตั้งใจดู ลักษณะรูปร่าง ความต่าง-เหมือนของสิ่งนั้น

ตรวจวัด ลักษณะรูปร่าง ความแตกต่างของสิ่งนั้น

ตรวจดูอย่างตั้งใจ ถึงที่อยู่  ที่ตั้ง ลักษณะที่อยู่ ที่ตั้งของสิ่งนั้น

ตรวจและแยกแยะ ความเหมือน – ต่าง พร้อมบอกหลักเกณฑ์ หลักการการแยกแยะ นำบันทึกข้อมูลที่เรียนรู้ มานำเสนอ

 

ชั้น ป.3
 

วางแผนการสังเกต ปฏิบัติงานตามแผนด้วยความตั้งใจดู

-ลักษณะความเป็นอยู่

-ความเหมือน-ต่างกัน

-กำหนดหลักเกณฑ์ หลักการการพิจารณาลักษณะความเหมือน-ต่างกันของสิ่งนั้น

-นำข้อมูล คุณลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นที่ตรวจสอบจากแหล่งความรู้เดิมมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ตั้งใจดูมา นำมาอภิปรายหาข้อสรุปร่วม จัดทำเป็น “หนังสือเรียนเขียนด้วยเด็ก” และนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญ

 

 

 

 

 

ชั้น ป. 4,5,6

วางแผนการสำรวจ  ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ นำผลการปฏิบัติมาร่วมอภิปราย สรุป ตั้งคำถามใหม่ เพื่อจะตรวจสอบ และหาข้อมูลเพิ่มเติม  ดำเนินการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม  ตอบคำถามที่ตั้งไว้ใหม่  นำผลการเรียนรู้มาร่วมอภิปราย สรุป  ถ้าข้อมูลความรู้เป็นที่พอใจ  เขียนเป็นตำราวิชาการของการค้นพบใหม่ มีการอ้างอิงความรู้เดิมจากแหล่งเรียนประกอบการเขียน  ถ้ายังไม่พอใจ ตั้งคำถามและดำเนินการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจนเป็นที่น่าพอใจ

 

(ในการเรียนรู้จริงๆ แล้ว เราจะนำมาสอนปนกัน ไม่ได้แบ่งแยกแบบที่เห็นข้างบน แต่อย่างน้อย ก็เป็นแนวทางให้เห็นว่า เด็กที่ต่างอายุกัน  อาจจะเรียนรู้ในความลึกที่ไม่เท่ากัน  ส่วนที่เด็ก จะเรียนรู้ได้จริง เท่าไรนั้น ก็น่าจะต้องดูเป็นคนๆ ไปครับ)

                จะเห็นได้ว่า ตัวบ่งชี้ถ้าลงรายละเอียดปลีกย่อยได้มากเท่าไร  จะเป็นผลดีต่อการนำมาสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผล กับจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและรวมถึงการสร้างจุดประสงค์การเรียนรู้ที่จะสอดรับซึ่งกันและกัน

                มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง  ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของผมเอง คือ พฤติกรรมการเรียนรู้  หรือทักษะการเรียนรู้หนึ่งใดนั้น ถ้าหมั่นฝึกฝนจนรู้ลึก  รู้จริงแล้ว เมื่อนำใช้ค้นหาความรู้จะได้ข้อมูลความรู้ที่ลึกซึ้ง  กว้างขวางและละเอียดอ่อนกว่าผู้ที่ขาดทักษะการเรียนรู้  หรืออ่อนเชิงต่อทักษะการเรียนรู้นั้น ๆ

และในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้นั้น  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า

                “....การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน มีจุดมุ่งหมายสำคัญของการประเมินระดับชั้นเรียน คือ มุ่งหาคำตอบว่า ผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้ง

                ด้านความรู้

                ทักษะกระบวนการ

                คุณธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์  อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือไม่เพียงใด.....

                ....ดังนั้น การวัดและประเมินจึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย  เน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้  กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปในกิจกรรมของผู้เรียน...”

( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2544 : 24-25 )

( หากบ้านเรียน สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้เรียน มีความก้าวหน้า ดังกล่าวแล้ว การวัดและประเมินผล ก็น่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่า จะใช้เกณฑ์ใด หรือ การเรียนรู้แบบใดๆ   ส่วนสาระความรู้ ที่เรียนรู้  ที่อาจจะไม่ตรงกับตัวชี้วัดของชั้นปีบ้าง หรือไม่ตรงกับสิ่งที่มีในหนังสือคู่มือบ้าง ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเราได้เรียนรู้ ตาม ข้อใหญ่คือสาระและมาตรฐานแล้ว หรืออาจจะกล่าวว่าเราได้เรียนรู้ ตามสภาพจริง ในชีวิตจริง  หรือหาก เราจะไม่ดูหลักสูตรเลย แต่เราสามารถ ชี้ได้ว่า มีความก้าวหน้า และ มีก้อนมวลของความรู้ ที่ได้เรียนรู้จริงแล้ว ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อประเมินได้) 

                ถ้าหากคุณครูอ่านจุดเน้น และแนวทางการจัดการเรียนรู้ ที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ โดยใช้ดุลยพินิจ พิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่า

                จุดประสงค์การเรียนรู้

                การวัดและประเมินผล

                กิจกรรมการเรียนรู้

จะต้องลงสู่คลองเดียวกัน จึงจะไปกันได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่คุณครูจะสอบ คุณครูจะต้องจัดกิจกรรมนำสอนก่อน สอนจนผู้เรียนรู้และเข้าใจแล้วจึงจะสอบ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่นำข้อสอบมาสอน แต่หมายถึงว่า เรื่องที่สอนนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้มาก่อน  ไม่ใช่สอนอย่างหนึ่งแต่สอบอย่างหนึ่ง เพราะการสอบและการสอน ซ่อนอยู่ข้างในเป็นหนึ่งเดียวนั่นคือ

                ทุกครั้งที่สอนจะต้องมีการสอบ

                ทุกครั้งที่สอบจะต้องมีการสอน