เราจัดการศึกษาเพื่ออะไร
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
ถ้าลองวางหลักสูตรกระทรวงไว้ก่อน สมมติว่าสิ่งนี้ไม่มีอยู่ในโลกใบนี้ หรือสมมติว่าสิ่งนี้เป็นหลักสูตรที่มันแย่เอามากๆ ยิ่งใช้ยิ่งแย่ ยิ่งเจริญลงๆ (สมมตินะ) แล้วเรามีโอกาสออกแบบระบบการศึกษา ออกแบบระบบการเรียนให้ลูกเองโดยอิสระ หรือไปลอกใครจากไหนมาก็ได้ เราจะจัดการศึกษาแบบไหนอย่างไร แล้วใช้เนื้อหาอะไร
สำหรับคน homeschool หรือไม่ homeschool ก็ตาม คำถามหนึ่งคือ เราอยากจัดการศึกษาแบบไหน และเพื่ออะไร
หรืออยากเติมเนื้อหาอะไรให้ลูก
 
หรือเราอยู่ใต้อิทธิพลความคิดหรือความเชื่ออะไร
การเลือกเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา เผื่อว่าวันไหนจะกลับเข้าโรงเรียนหรือเผื่อจะใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ...ก็โอเคครับ เป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิต
 
แต่ถ้าลองวางหลักสูตรกระทรวงไว้ก่อน สมมติว่าสิ่งนี้ไม่มีอยู่ในโลกใบนี้ หรือสมมติว่าสิ่งนี้เป็นหลักสูตรที่มันแย่เอามากๆ ยิ่งใช้ยิ่งแย่ ยิ่งเจริญลงๆ (สมมตินะ)
 
แล้วเรามีโอกาสออกแบบระบบการศึกษา ออกแบบระบบการเรียนให้ลูกเองโดยอิสระ หรือไปลอกใครจากไหนมาก็ได้
เราจะจัดการศึกษาแบบไหนอย่างไร แล้วใช้เนื้อหาอะไร
 
เราต้องเรียนรามเกียรติ เรียนคำว่าประติชญาวิเศษณ์ เรียนว่าเครื่องดนตรีปี่พาทย์มีอะไรบ้าง เรียนว่าพันธะโควาเลนท์คืออะไร และอีกมากมายๆ จริงๆ ไหม หรือควรเรียนตอนไหน ควรรู้ตอนไหน
 
เราควรรู้พื้นฐานของทุกอย่างในโลกให้หมด อย่างละนิดละหน่อย แล้วแข่งกันจำ แข่งกันรู้มากกว่าอีกนิด อีกหน่อย ซึ่งแลกมาด้วยการทบทวนอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัด ใช้เวลาในชีวิตแลกมา ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่มีทางรู้ได้หมด เพราะองค์ความรู้พื้นฐานนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอัตราเร่ง ต่างกับยุคเริ่มต้นของสมัยใหม่ที่เราเพิ่งเริ่มรวบรวม "พื้นฐาน" ที่ควรรู้เข้ามา
 
ถ้าเลือกได้ เราก็คงเลือกสิ่งที่ "ดีที่สุด" ให้กับลูกของเรา ซึ่งบางทีก็พูดยากว่าอะไรคือ "ดีที่สุด"
 
ดีที่สุดของพ่อแม่บางคนคือ "แล้วแต่ลูก" ...ยกเว้นลูกชอบเล่นเกม ยกเว้นลูกชอบวิ่งเล่น ยกเว้นลูกชอบเหม่อมองดูฟ้า และอีกหลายๆ ยกเว้น
"แล้วแต่ลูก" ตราบที่พ่อแม่เห็นชอบด้วย หรือแลกมาด้วยเงื่อนไขต่างๆ ตามที่พ่อแม่ตั้งขึ้น ภายใต้คำว่า "ตกลงร่วมกัน"
 
ดีที่สุดของพ่อแม่บางคนคือขอภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ไว้ก่อน
ดีที่สุดของบางคนคืออะไรก็ได้ตราบเท่าที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลได้
ดีที่สุดของบางคนคืออยู่ในสังคม "ดีๆ" ซึ่งบางทีก็หมายถึงแพงๆ ไฮโซๆ
และอีกหลายดี ตามแต่ว่าใครจะเห็นไปตรงไหน
 
ผมไม่ได้มีคำตอบครับ แต่อยากจะให้ตั้งคำถามกัน หรือคนที่ถามแล้วก็อยากให้ถามกันอีกบ่อยๆ เท่านั้นว่าเรากำลังทำอะไร และอะไรทำให้เราคิดเช่นนั้น รวมถึงยังมีทางออกอื่นๆ ความเป็นไปได้อื่นๆ อีกหรือเปล่า เราอยู่ในกรอบของความเคยชินเดิม ความรู้เดิม หรือคอมฟอร์ทโซน ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยจากการทำสิ่งที่คุ้นเคยหรือเปล่า
 
หนึ่งคำตอบที่อยากทิ้งไว้ให้ กับทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้
คือเราสามารถมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความรู้ที่มีอยู่ในตัวพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ชุมชน สื่อที่เข้าถึงได้ หรือบางคนมีกำลังมีทรัพยากรหรือมี passion ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะเสาะแสวงหาขวนขวายสาระวิชาใดมาก็สามารถเป็นไปได้ กว่าที่เราจะเป็นพ่อแม่ กว่าที่จะเป็นปู่ย่า หรือแม้แต่คนรอบๆ ตัวกว่าที่จะเติบโตกันมาได้ ล้วนสะสมความรู้ไว้มากมาย จนบางทีไม่ต้องไปหาที่อื่น แค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ยากที่จะเก็บเกี่ยวได้หมดแล้ว เราอาจจะกำลังหา "ประติชญาวิเศษณ์" เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในวิชาภาษาไทย ในขณะที่คนข้างบ้านแต่งโคลงกลอน หรือเป็นนักเขียน เป็นคอลัมนิสต์ เป็นไวยาวัจกร
เป็นโฆษก อยู่กับตัวหนังสือ ใช้ภาษาไทยมาตลอดชีวิตหรือเปล่า เพียงแต่เขาอาจจะไม่รู้ว่าประติชญาวิเศษณ์คืออะไร หรือจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าได้เรียนมา (อยู่ในหนังสือเรียนม.1 ครับ ทุกคนได้เรียน)
 
...มีคำถามว่าผมสอนอะไรลูก
ก็แทบจะสอนอยู่เพียงเรื่องเดียวครับ คือการตั้งคำถาม และมองหาความเป็นไปได้ของคำตอบ แบบในข้อเขียนนี้แหละครับ