เริ่มต้นทำ homeschool #9 homeschool ระดับประถมศึกษา
เมื่อคิดจะทำ homeschool ระดับประถม เรื่องทางกฎหมายและเรื่องวุฒิการศึกษาก็จัดการไปตามลำดับครับ บางคนก็ราบรื่น บางคนก็ติดขัดบ้าง เร็วช้าต่างกัน แต่ถ้าจะจดทะเบียนให้ได้ ยังไงก็ต้องได้ครับ แทบไม่มีกรณีที่จดทะเบียนไม่ได้ มีแต่กรณีที่เลิกล้มไปก่อน บางคนติดเงื่อนไขเช่นพ่อแม่ไม่มีวุฒิการศึกษา หรืออยู่ห้องเช่า หรือเดินทางบ่อย หรือยากจน หรือทำงานทั้งคู่ ...ไม่ใช่ประเด็นที่เจ้าหน้าที่จะไม่รับจดทะเบียนครับ ถ้ายืนยันจะทำ ต้องทำได้ เป็นสิทธิของพ่อแม่ผู้จัดการศึกษาตามกฎหมายเลย

เมื่อคิดจะทำ homeschool ระดับประถม เรื่องทางกฎหมายและเรื่องวุฒิการศึกษาก็จัดการไปตามลำดับครับ บางคนก็ราบรื่น บางคนก็ติดขัดบ้าง เร็วช้าต่างกัน แต่ถ้าจะจดทะเบียนให้ได้ ยังไงก็ต้องได้ครับ แทบไม่มีกรณีที่จดทะเบียนไม่ได้ มีแต่กรณีที่เลิกล้มไปก่อน บางคนติดเงื่อนไขเช่นพ่อแม่ไม่มีวุฒิการศึกษา หรืออยู่ห้องเช่า หรือเดินทางบ่อย หรือยากจน หรือทำงานทั้งคู่ ...ไม่ใช่ประเด็นที่เจ้าหน้าที่จะไม่รับจดทะเบียนครับ ถ้ายืนยันจะทำ ต้องทำได้ เป็นสิทธิของพ่อแม่ผู้จัดการศึกษาตามกฎหมายเลย

กระบวนทางกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง ทีนี้อยู่ทีจะสอนลูกอย่างไร

เคยเขียนเบื้องต้นไปแล้วว่าไปรวมกลุ่มช่วยกันสอน หรือไปอาศัยครูสอนพิเศษก็ได้ครับ ทั้งแบบแชร์กันสอนหรือจ้างมาสอนที่บ้าน ถ้าบริหารดีๆ ค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยเฉลี่ยอาจจะแพงกว่าโรงเรียนรัฐบาล (ที่ไม่ใช่ห้องกิฟต์หรือโปรแกรมติวอะไรพิสดาร) แต่จะถูกสตางค์กว่าไปเข้าโรงเรียนเอกชนทั่วๆไป อันนี้ถูกแพงอยู่ที่งบของเราครับ บริหารตามงบได้ และไม่จำเป็นต้องไปใชัจ่ายเงินตามใคร มีมากใช้มากมีน้อยใช้น้อยตามความเหมาะสม

กระบวนการเรียนนั้น ประถมต้นกับประถมปลายจะแตกต่างกันอยู่

ประถมต้น ต่อเนื่องจากอนุบาลครับ ปกติจะมีอารมณ์อนุบาลอยู่บ้าง ค่อยๆ ปรับตัวกันไป แต่พอถึงวัยประถมคือสัก 6 ขวบขึ้นไป ส่วนมากเด็กจะกำลังอยากเรียนอยากรู้ ช่วงนี้ถ้าบ้านไหนพาไปแนวศิลปะ ดนตรี หรือกีฬาหลายๆ ประเภท แล้วบิ๊วขึ้น คือลูกไปเล่นไปเรียน แทบทุกคนจะคิดว่าลูกตัวเองเป็นอัจฉริยะหรือค้นพบตัวเองแล้ว หรือเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ครับ เพราะเค้าจะทำได้ดีมากๆ จนเราทึ่ง โดยเฉพาะถ้าได้ครูดีที่เข้าใจเด็ก หรือบางทีที่เคยเจอคือไม่จำเป็นต้องเป็นครูดี แต่เป็นตัวจริงหรือผู้เชียวชาญมากๆ ในวงการนั้นๆ เมื่อเด็กได้อยู่ใกล้ๆ เขาจะซึมซับได้เร็วมาก จนลูกเราเหมือนเป็นอัจฉริยะไปจริงๆ ...และถ้าทุ่มเทเพียงพอทั้งพ่อแม่ลูกแบบที่กำลังเหมาะสม ไม่ดันมากจนเกินเหตุ หรือกดดันให้เครียดจนเกินเหตุ ส่วนมากจะออกมาดีเลิศ หรือบางทีก็อาจจะรักชอบด้านอื่นเช่นวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรืองธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือการทดลองแปลกๆ และอีกอย่างที่เด็กวัยนี้มักจะทำได้ดีคือการเรียนรู้เรื่องภาษาที่สองหรือสาม ซึ่งไม่ใช่เรียนตามตำราตามระบบ แต่เป็นเรียนแบบสื่อสาร ฟังพูดหรือกระทั่งอ่าน ถ้าพ่อแม่สามารถใช้ภาษาที่สองได้หรือมีครูหรือเพื่อนที่เจอกันบ่อยๆได้ ก็คุยกับลูกไปเรื่อยๆ ได้ผลดีครับ

หรือ unschooling ก็สามารถทำได้ คือไม่ต้องมีแผนไม่ต้องไปเข้าห้องเรียนหรือมีบทเรียนหรือกระทั่งไม่ต้องใช้ตำราเรียน แต่สามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้ เช่นบ้านทำเกษตร ก็แค่ทำงานบ้าน ช่วยทำนาเลี้ยงเป็ดไก่ ช่วยทำอาหาร อยู่กับงานในลักษณะพื้นฐานที่ไม่ต้องใช้ความซับซ้อน ไม่ต้องถึงขั้นกดดันผลักดันมาก แต่แค่อยู่ด้วย ช่วยงานบ้าน เด็กก็สามารถเรียนรู้และเติบโตจากสภาพแวดล้อมนี้ได้ หรือกระทั่งปัญหาในชีวิต ในครอบครัว ภัยพิบัติต่างๆ ก็สามารถเป็นบทเรียน โดยไม่ต้องจัดเป็นห้องเรียนพิเศษ แค่นำมาพูดคุยกัน บนโต๊ะอาหาร หรือก่อนนอนก็ได้ ก็สามารถจัดการเรียนรู้ที่แนบเนียนไปกับวิถีชีวิตได้

หลายคนถามเรื่องการสอนเขียนอ่าน ..การอ่าน ถ้าพ่อแม่อ่านนิทานกับลูกตั้งแต่เด็ก หลายๆ คนจะอ่านออกเองโดยไม่ต้องสอน บางคนอ่านได้ตั้งแต่ 2-5 ขวบก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าบ้านไหนพลาดจังหวะนี้หรือไม่มีเวลาไม่ได้ทำมาแต่แรก มาตั้งต้นจากเปิดตำราสอน เด็กบางคนจะรับ บางคนจะไม่รับ แต่เท่าที่พบรวมถึงจาการศึกษาหรืองานวิจัยต่างๆ พอเด็กอายุ 7-8 ขวบ จะอยากอ่านออกเอง จะเป็นอีกจังหวะหนึ่งที่สอนอ่านได้ โดยใช้ตำราสะกดคำง่ายๆ นั่งอ่านไปด้วยกันไม่นานก็ทำได้ แต่อาจจะยังไม่คล่องนัก ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไร และเด็กส่วนมากวัยนี้จะบอกว่าภาษาอังกฤษง่ายกว่าภาษาไทย สอนอ่านได้ทั้งสองภาษาเลย

ส่วนการเขียน ก็ไม่ต้องคิดมาก อาจจะหัดคัดลายมือบ้าง หรือเขียนบันทึกแบบง่ายๆ บ้าง ไม่ต้องเน้นจดจริงจังเพราะส่วนมากมือจะยังไม่ค่อยแข็งแรงด้วย ถ้าเขียนนานๆ ไปจะเจ็บมือเจ็บนิ้ว แล้วจะทำให้ไม่อยากเขียน ค่อยๆ ทำไปครับ

และพ่อแม่ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนครับ เรากำลังพูดคุยหรือสอนเด็ก 6-7 ขวบเอง แค่ตอบคำถามลูกไปตามธรรมดา ไม่ถึงกับต้องตอบทุกคำ และไม่ต้องจริงจังขนาดที่ต้องไปค้นตำรามาตอบเสมอไป และอย่าปล่อยให้ลูกถามจนน่ารำคาญหรือจนพ่อแม่ขี้เกียจทน พ่อแม่ไม่ใช่ทาสของลูก ตอบตามสมควร และสื่อสารตรงไปตรงมา ถ้าไม่ใช่หรือพ่อแม่ไม่สะดวกที่จะตอบแล้วก็บอกลูกตรงๆ ได้ว่าพอก่อนนะ ลูกทำอย่างอื่นก่อน..พอก่อน พูดได้ครับ

การสอนก็ไม่ถึงกับต้องสร้างเป็นกิจกรรมเฉพาะไปหมด เคยมีคนถามผมว่าจะจัดกิจกรรมเพื่อสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องสั้น-ยาว ต้องทำอย่างไร คือมันไม่ต้องขนาดนั้น บอกเค้าเฉยๆ เลยก็ได้ อ้นนี้สั้นกว่าอันนี้ อันนี้ยาวกว่าอันนี้ จัดไปตามความเหมาะสม เดี๋ยวก็จำได้เอง ไม่ต้องถึงกับวางหลักสูตรทุกเรื่องแล้วจัดกิจกรรมกับทุกเรื่อง

แต่ถ้าบ้านไหนเน้นแนววิชาการจัดเต็ม ก็อาจจะแล้วแต่ความเชื่อครับ จริงๆ ถึงจัดเต็ม เด็กก็รับได้ เพียงแต่คอยดูแลอย่าให้หนักเกินไปหรือเครียดเกินไปเท่านั้น ...โดยส่วนตัวผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดเต็มตอนนี้ แต่ผู้ปกครองหรือครูหลายคนก็มีความเชื่อแตกต่างกันไป อันนี้แล้วแต่ความเชื่อของผู้ปกครองครับ

ช่วงวัยนี้พ่อแม่ควรศึกษาจิตวิทยาเด็กมากๆ ทำความเข้าใจกับลูก และเรียนรู้ไปด้วยกัน

ต้นฉบับ https://www.facebook.com/HomeUnschool/posts/2407705302614231


by Jo on Jun 03, 2019

Posted in คู่มือโฮมสคูล, เรื่องเล่าโฮมสคูล

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง