เทคนิคที่ทำให้คุณเขียนรายงานการเรียนรู้ง่ายขึ้น : รายงานการจัดการศึกษาบ้านเรียนเปื้อนฝุ่น ปีที่ 3
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
ผมคิดว่าเราหลาย ๆ คนรวมถึงตัวผมเองติดการเขียนรายงานเพื่อส่งครู หรือเพื่อทำวิทยานิพนธ์ เรามักถูกกำหนดให้เขียน จนไม่อยากเขียน เขียนด้วยเหตุผลที่แห้งแล้ง จนลืมแก่นของการเขียนจริงๆ แท้จริงแล้วเรามีเหตุผลมากมายที่จะเขียน เพื่อบันทึกช่วงเวลาของเรา เพื่อสื่อสารบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ของเรา ฯลฯ

ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นด้วยการเขียนรายงานเพื่อส่งงานตามข้อกำหนด คนอ่านก็อ่านตามหน้าที่ ต่างคนต่างถูกบังคับให้เขียนให้อ่าน เราจึงเขียนไม่ออก ไม่อยากเขียน

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ารายงานการเรียนรู้ประจำปี สำคัญกว่าแผน เพราะเป็นสิ่งที่เราได้ทำไปจริง ๆ และเป็นบันทึกพัฒนาการ เป็นโอกาสทบทวนพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก ซึ่งควรจะทำได้หลากหลายวิธีเช่น คลิบวิดีโอ การบอกเล่า ฯลฯ แต่ในกรอบปัจจุบัน เราถูกกำหนดให้ใช้รายงาน จึงจำเป็นต้องเขียน ทีนี้จะเขียนอย่างไรให้สบายใจที่สุด

เขียนให้คนที่อยากอ่าน

ถ้าคุณเขียนไม่ออก อาจจะเป็นเพราะ คุณยังไม่รู้ว่าจะเขียนไปทำไหม หรือเขียนให้ใครอ่าน สิ่งที่ช่วยให้การเขียนรายงานไหลลื่นขึ้น คือ การนึกถึงคนอ่าน คุณอาจจะอยากเขียนเพื่อบันทึกช่วงเวลาของคุณกับลูก คุณสามารถนึกถึงตัวคุณเองหรือลูกที่จะมาอ่านเมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อลูกโตขึ้น คุณอาจจะนึกว่าคุณอยากคุยกับใคร อยากให้ใครอ่าน คุณอยากจะบอกอะไรกับเขา

ในแง่หนึ่งเป็นการให้ความรู้ข้อมูลกับคนอ่าน นักการศึกษาเขาอาจจะยังไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่อง Home School งานของเราก็สามารถช่วยให้เขามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

การเขียนของเราจึงเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าใจในกระบวนการจัดการเรียนของเรามากขึ้นเราแบ่งปันกระบวนการของเราเพื่อให้คนอ่านได้เห็นว่าเราจัดการเรียนรู้อย่างไร อะไรที่ล้มเหลวอะไรที่ประสบความสำเร็จ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง ถ้ามีความผิดพลาดที่เราไม่รู้ตัว อาจจะมีคนอ่านมาช่วยเสนอแนะให้การจัดการเรียนรู้ของเราดีขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ความคิดเห็นของเราย่อมมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือ ทำให้คนอ่านได้คิดได้ทบทวนในสิ่งที่ตัวเองรู้ ทำให้สังคมของเราสะสมความรู้และมีความคิดมากขึ้น

การเขียนรายงานในปีก่อน ๆ ผมมักนึกถึงคนที่ทำบ้านเรียนทีหลังผม หรือคนทีี่่อยากรู้ว่าบ้านเรียนทำอย่างไร พร้อม ๆ ไปกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต และศึกษานิเทศก์ที่จะมาอ่านรายงาน แต่ปีนี้มีเหตุการที่ชวนให้ผมนึกถึงคนอื่นนอกจากที่เคยนึกถึง




เขียนให้ผีอ่านก็ได้ 


ปีก่อน ๆ เวลามีการนิเทศบ้านเรียนหรือวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ ผมสัมผัสได้ว่า เจ้าหน้าที่คิดว่าลูกมีพัฒนาการที เราจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้ดี แต่พอถึงการรับรองผลการเรียน มักมีเสียงหนักใจของศึกษานิเทศก์ในการรับรองผลการศึกษา เพราะกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เราจัดให้ลูกมันแทบเทียบกับมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในระบบโรงเรียนไม่ได้เลย ตั้งแต่ เนื้อหาในแต่ละปี เครืองมือวัด (ที่เรายืนยันไม่ใช้การสอบ) และกระบวนการวัดผลที่หาตัวเลขไม่เจอ มีแต่คำบรรยายเชิงคุณภาพที่ต้องตั้งใจอ่าน จนกระทั้งผลการเรียนที่ไม่มีเกรด (ในกรณีของบ้านเรียนผม) ทำให้ผมคิดว่า มันน่าจะมีใครกำกับบงการเขาอยู่ จนไม่สามารถใช้สายตาของตัวเองประเมินและรับรองศักยภาพของเด็กคนหนึ่งได้

แต่จนกระทั่งผมเขียนเสร็จแล้วผมก็ยังไม่รู้ว่าคนที่อยู่เหนือศึกษานิเทศก์นั้นคือใคร อาจจะเป็นความกลัว ความไม่มั่นใจ โครงสร้างระบบราชการที่ล้าหลัง รั้งให้คนทำตามกรอบเดิมที่เขียนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยละเลยสิ่งที่อยู่ตรงหน้า (หลักสูตรแกนกลางที่ใช้อยู่ปัุจจบันใช้ตั้งแต่ปี 2551) หรืออาจจะเป็นผีมาตรฐานตัวชี้วัดที่ใช้งานไม่ได้จริง ที่ตามหลอกหลอนระบบการศึกษาทั่วประเทศก็เป็นได้

เขียนจนบรรทัดสุดท้าย ผมถึงรู้ตัวว่า จริง ๆ มีอีกเทคนิคคือ เขียนให้คนที่เราอยากให้อ่าน โดยไม่จำเป็นว่าเค้าอยากจะอ่านหรือไม่ก็ได้นะครับ

อ่านรายงานการจัดการเรียนรู้ของบ้านเรียนเปื้อนฝุ่น ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้ที่นี่ครับ 

*****************************************

 

 

 

ติดตามการเรียนรู้ของสีฝุ่นได้ที่ www.facebook.com/foonhome หรือ www.seefoon.com