ทำโฮมสคูลควบคู่ระบบโรงเรียน
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
การจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล (Home School) นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่กฎหมายเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีส่วนจัดการศึกษาให้ลูก ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของพ่อแม่ผู้ปกครองชาวไทยจำนวนมากด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็น ขาดความศรัทธากับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน...ไม่มั่นใจในคุณภาพของโรงเรียนและครูผู้สอน...ลูกเป็นเด็กพิเศษระบบการศึกษาปกติไม่สามารถตอบสนองต่อการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของลูกได้...พ่อแม่สามารถใช้เวลาอยู่กับลูกได้อย่างเต็มที่เพิ่มพูนความอบอุ่นในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น...ห่วงใยในสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ การติดเชื้อโรคจากเพื่อน (หากเป็นเด็กเล็ก) การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่อลวงในเรื่องเพศ ยาเสพติดจากกลุ่มเพื่อนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งจากผลการวิจัยจำนวนมากที่พบว่าเด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน รวมทั้งเด็กไม่มีปัญหาในด้านทักษะสังคมอย่างที่เป็นกังวล[break]

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบโฮมสคูลจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยมายาวนานกว่า 20 ปี แต่ระบบดังกล่าวยังนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ของคนในสังคมไทย ทั้งบุคคลากรเจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่เคยชินอยู่กับระบบการศึกษาในโรงเรียนแบบเดิมที่มีมายาวนานกว่าร้อยปี แม้จะมีการประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 แล้วก็ตาม

ดังนั้น จึงอาจไม่ได้เป็นเรื่องง่ายของพ่อแม่ในการนำลูกของตนเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบโฮมสคูลอย่างเต็มตัว เนื่องจากเงื่อนไขและอุปสรรค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ในการขออนุญาตจากภาครัฐ เงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนในด้านคำปรึกษา งบประมาณ อุปกรณ์การเรียนการสอน เครือข่ายผู้ปกครองโฮมสคูลเพื่อคอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันซึ่งยังไม่แพร่หลายไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ มากนัก รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญที่สุดนั่นคือ "ความพร้อมของพ่อแม่" ที่ต้องการจัดการศึกษานั่นเองทั้งในด้านความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในระบบโฮมสคูล ความพร้อมในด้านเศรษฐกิจการเงิน ความรู้ความสามารถในการสอนลูกตามสาระวิชาต่าง ๆ เพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นยามต้องกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบเดิม เป็นต้น

การเลือกว่าจะนำลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบใดนั้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องพิจารณาอยู่บนฐานของการตัดสินใจอย่างรอบคอบโดยไม่นำลูกมาเป็นหนูทดลองอย่างปราศจากความเข้าใจ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่าเพราะเหตุใดเราจึงปรารถนาให้ลูกเข้าสู่ระบบโฮมสคูล ทำไปตามกระแสนิยม ทำเพื่อตนเองเนื่องจากต้องการให้ลูกอยู่ใกล้ชิดตนตลอดเวลา อยากให้ลูกเติบโตมาเป็นแบบที่ตนใฝ่ฝัน หรือตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ของลูกอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตามแบบที่พ่อแม่อยากให้เป็น
 
โดยหากพิจารณาแล้วพบว่า มีความจำเป็นที่ต้องนำลูกเข้าสู่ระบบโฮมสคูล รวมทั้งประเมินแล้วว่าตนเองมีความพร้อมในการจัดการศึกษาระบบนี้ให้กับลูกได้ ย่อมเป็นการดีที่พ่อแม่จะเร่งเดินหน้าวางแผนการศึกษาในระบบนี้ให้กับลูกของตน อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถจัดโฮมสคูลให้กับลูกได้อย่างดีที่สุดไปตลอดรอดฝั่งแล้ว การส่งลูกเข้าระบบการศึกษาในโรงเรียนแบบเดิมนับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แม้จะไม่สามารถทำโฮมสคูลอย่างเต็มรูปแบบได้ แต่พ่อแม่สามารถปรับใช้แนวทางของโฮมสคูล บางส่วนควบคู่ไปกับระบบการเรียนการสอนปกติในโรงเรียนได้ ซึ่งนับเป็นการอุดรูรั่วจุดอ่อนจุดแข็งระหว่างระบบทั้งสองได้เป็นอย่างดี

การทำโฮมสคูลควบคู่ไปกับระบบการเรียนในโรงเรียนปกตินั้นเริ่มจากความตระหนักของพ่อแม่ในบทบาทของการเป็นครูคนแรกของลูก อย่างไม่ปัดความรับผิดชอบนี้ไปที่โรงเรียนหรือครูผู้สอนแต่เพียงฝ่ายเดียวแต่พร้อมที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาการเรียนการสอนของลูกในทุก ๆ ด้านนอกเหนือไปจากระบบการเรียนปกติในโรงเรียน

โดยเริ่มจากเลือกโรงเรียนที่มีแนวทางการเรียนการสอนที่ตรงความต้องการมากที่สุด  ในปัจจุบันพ่อแม่มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการเลือกโรงเรียนที่มีแนวทางการเรียนการสอนที่ตรงใจตนมากที่สุด โดยพบว่ามีโรงเรียนมากมายที่หันมาใช้นวัตกรรมการสอนแบบใหม่มากยิ่งขึ้น อาทิ การจัดการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ มอนเตสเซอรี่ เรกจิโอ เอมิเลีย ฯลฯ ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น  นอกเหนือไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาเดิม

พ่อแม่ควรศึกษาทำความเข้าใจกับนวัตกรรมการสอนแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งเลือกโรงเรียนที่ใช้แนวทางการเรียนการสอนที่ตรงใจตรงความต้องการและเข้ากันได้ดีกับลูกของตนมากที่สุด

ทำความเข้าใจกับระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนของลูก พ่อแม่ควรรู้ว่าโรงเรียนมีการเรียนการสอนในกลุ่มสาระวิชาครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง มีระบบการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ใช้เวลาในการสอนแต่ละวิชามากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ โรงเรียนมุ่งเน้นการพัฒนาเรื่องใดเป็นพิเศษเช่นเน้นวิชาการหรือแนวการเตรียมความพร้อม มีเกณฑ์ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร พร้อมประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง ของระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนเพื่อทำโฮมสคูลในการอุดจุดอ่อนจากระบบของโรงเรียน อาทิ หากเป็นโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมลูกเรียนอย่างมีความสุขได้เล่นสนุกสนานทั้งวันแต่อาจอ่อนในด้านวิชาการ พ่อแม่อาจต้องทำโฮมสคูลเสริมในด้านวิชาการกับลูกเช่นเสริมทักษะด้านการคำนวณ การฝึกฝนทักษะการอ่าน เป็นต้น

วางแผนทำโฮมสคูลควบคู่ระบบโรงเรียน หัวใจสำคัญของการศึกษาแบบโฮมสคูลคือความตั้งใจจริงและความมีวินัยของพ่อแม่ในการจัดการศึกษาให้กับลูก มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและสามารถปรับได้อย่างยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเริ่มจาก

...จัดหลักสูตรการสอน โดยพิจารณาจากจุดอ่อนของโรงเรียน สิ่งที่ระบบโรงเรียนไม่สามารถให้กับลูกได้ ควบคู่ไปกับการสังเกตพัฒนาการพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของลูกว่ามีสิ่งใดที่ควรแก้ไข สิ่งใดที่ควรส่งเสริมเพิ่มมากขึ้นและจัดเรียงลำดับความสำคัญ อาทิ ทำโฮมสคูลเสริมวิชาคณิตศาสตร์มากเป็นพิเศษหากพบว่าลูกเรียนอ่อนในวิชานี้มากและครูที่โรงเรียนสอนเร็วมากลูกเรียนตามไม่ทัน หาหนังสือหรือสื่อการเรียนอื่น ๆ เสริมให้ลูกเพิ่มเติมจากที่โรงเรียน

...จัดตารางเวลา กำหนดเวลาที่แน่นอนเป็นตารางประจำวันหลังเลิกเรียน ตารางประจำสัปดาห์ โดยใช้หลักความสมดุลไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป เช่น หากระบบโรงเรียนเน้นวิชาการมาก ตารางเวลาเมื่อกลับบ้านควรให้เป็นเกมการละเล่นที่ผ่อนคลาย การฝึกฝนดนตรี ศิลปะ การไปทัศนศึกษาในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น

...การประเมินผลการเรียนการสอน ในการทำโฮมสคูลพ่อแม่ต้องมีการตั้งเป้าหมายเสมอว่าต้องการเห็นพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นกับลูกของตนตามเกณฑ์พัฒนาการตามแต่ละช่วงวัย โดยพ่อแม่ควรมีการสร้าง “ตัวชี้วัด” ที่ชัดเจน มีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอรายสัปดาห์ รายเดือน ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ โดยปราศจากเป้าหมายหรือไม่มีการวัดผลแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น

ทำโฮมสคูลควบคู่ระบบโรงเรียน

โดยสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือพ่อแม่ต้องมีการบันทึกแผนการเรียนการสอนของตนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการประเมินผล การรวบรวมสะสมผลงานของลูก อาทิ ผลงานงานศิลปะ  ภาพถ่ายพัฒนาการของลูก ฯลฯ บันทึกไว้อย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับแฟ้มบันทึกผลงาน หรือ Portfolio ของครูที่โรงเรียน   เพื่อการประเมินผลที่ถูกต้องและรวบรวมเป็นข้อมูลในการวางแผนการเรียนการสอนในระดับต่อไป

ประสานความร่วมมือกับโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอน เพื่อร่วมมือกันในการเสริมสร้างพัฒนาการและดึงเอาศักยภาพลูกของตนออกมาให้มากที่สุด รวมทั้งการปรับปรุงลักษณะนิสัยการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกให้หมดไป โดยพ่อแม่ต้องขยันในการไปพบปะพูดคุยกับครูของลูกให้บ่อยครั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันว่าลูกอยู่ที่บ้านเป็นอย่างไร อยู่ที่โรงเรียนเป็นอย่างไร ลูกถนัดวิชาอะไร อ่อนในวิชาใด เป็นต้น

สร้างเครือข่ายผู้ปกครองช่วยเหลือเกื้อกูล พ่อแม่และละครอบครัวย่อมมีความถนัด ความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปคนละอย่าง การที่พ่อแม่หันมาร่วมมือกันสร้างเครือข่ายผู้ปกครองจึงเป็นขุมพลังสำคัญในการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันในการจัดโฮมสคูลให้ลูกรักของเรา อาทิ รวบรวมกลุ่มผู้ปกครองให้คุณพ่อคุณแม่ที่เก่งเรื่องการคำนวณ เก่งเรื่องภาษา ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ มาสอนเด็ก ๆ หรือสอนพ่อแม่ท่านอื่น ๆ เพื่อนำไปสอนลูกอีกทอดหนึ่ง มีการรวมกลุ่มกันไปทัศนศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่ร่วมกัน แบ่งปันสื่อการเรียนการสอน ซีดี หนังสือ ระหว่างกันในกลุ่มเพื่อนำมาสอนลูกของตน ช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็ก ๆ ในกลุ่ม

รากฐานของการจัดการศึกษาระบบโฮมสคูลแท้จริงแล้วมาจากความตระหนักในใจลึก ๆ ของพ่อแม่ทุกคนในบทบาทของการอบรมสั่งสอน ประสิทธิประศาสตร์วิชาความรู้ให้กับลูกของตน ฟูมฟักให้ลูกเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์พร้อมและสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตข้างหน้า ดังนั้น แม้ในสภาพความจำกัดโดยเงื่อนไขนานาประการทั้งคุณภาพของระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในปัจจุบัน หรือการที่พ่อแม่ไม่สามารถเป็นผู้ที่จัดการเรียนการสอนให้กับลูกเองได้ทั้งหมดนั้น การทำโฮมสคูลควบคู่ไปกับระบบการศึกษาในโรงเรียนจึงนับเป็นแนวทางสำคัญที่พ่อแม่สามารถมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกได้เช่นกัน

โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
http://kriengsakchareonwongsak-sukkaraya.blogspot.com

by Unnop on May 29, 2012

Posted in คู่มือโฮมสคูล

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง