ตั้งเป้ากันว่าไปทำนู่นนี่นั่น หรืออ่านเรื่องนี้ ดูเรื่องนั้น แล้วจะต้องเก่ง จะต้องรู้เรื่อง เข้าใจ หรือต้องมาทดสอบอะไรกัน
[break]
เมื่อเกิดความสนใจแล้วก็จะไปสู่อีกกระบวนการหนึ่งคือ การเข้าสู่การเรียนอย่างจริงจัง ขั้นตอนนี้เด็กจะเริ่มเห็นแล้วว่าการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การทำตามใจตัวเอง ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ บางทีต้องผ่านเรื่องนั้น บางทีต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ ผ่านเรื่องยาก ผ่านความลำบาก ...ตรงนี้พ่อแม่ก็ต้องคอยกระตุ้นบ้าง ปลุกเร้าบ้างอยู่ตลอดเหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติเด็กก็อาจจะมีขี้เกียจบ้าง เบื่อบ้าง เป็นธรรมดา แต่ตราบใดที่เขายังไม่ละความพยายาม แปลว่าความสนใจยังต่อเนื่องอยู่ เพียงแต่อาจจะต้องการแรงกระตุ้นบ้างเท่านั้น
เมื่อเด็กเกิดความสนใจ การวัดผลก็คือความก้าวหน้าในกิจกรรมที่เขาทำไป โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะมีทักษะเฉพาะหรือไม่ มีอัจฉริยภาพเฉพาะทางนั้นหรือไม่ บางครั้งสิ่งที่ลูกชอบหรือเกิดความสนใจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกทำได้ดี ซึ่งระหว่างนั้นเราก็ยังอาจจะกระตุ้น หรือชี้ชวนเขาไปพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่อีก เพราะสิ่งที่เขาเคยไม่ชอบในวันนี้ ไม่ได้แปลว่าวันหน้าจะไม่ชอบ เรื่องที่เคยทำไม่ได้ในวันก่อน ไม่ใช่ว่าวันนี้จะทำไม่ได้ สิ่งสำคัญคือทำให้เขารู้จักตัวเองให้ได้ว่าณ ช่วงเวลานั้นๆ เขาอยากจะทำอะไร และมีโอกาสได้ทำอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมานึกเสียใจในภายหลัง
กระบวนการวัดผลของบ้านเรา จึงไม่เกี่ยวกับว่าจะเปรียบเทียบกับใคร หรือเกี่ยวกับว่าจะได้กี่คะแนน แต่เกี่ยวกับว่าเขายังมีความสนใจที่จะเรียนรู้อยู่หรือเปล่า ถ้าทำได้ดีก็ถือว่าดี ทำได้ไม่ดีก็แค่รู้ว่ายังทำได้ไม่ดี จึงไม่ใช่การเรียนแบบแพ้คัดออก ที่ต่ำกว่า 50% แปลว่าสอบตก แปลว่าโง่ หรือควรไปดรอป เลิกเรียนเสียดีกว่า ...เราไม่ได้สอนลูกแบบนั้น
ถ้าวันนี้ทำคะแนนได้ 10% พรุ่งนี้ทำได้ 11% ก็ถือว่ามีพัฒนาการขึ้น อีกวันเหลือ 5% เออ..ช่วงนี้อาจจะขี้เกียจหรือขาดแรงบันดาลใจ ก็แค่ให้รู้ไว้ แล้วเดินหน้าต่อไป ถ้ายังอยากเรียนอยู่ แม้ทั้งชีวิตก็ยังเรียนไปได้
จริงๆ กระบวนการชี้ชวนนี้ เด็กโรงเรียนจะได้เปรียบเด็กบ้านเรียนด้วยซ้ำ เพราะความสนใจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจากกระบวนการกลุ่ม พอมีสักสองสามคนสนใจ หรือบางทีแค่คนเดียวสนใจ (แต่มีความเป็นผู้นำสูง) เพื่อนๆ ทั้งกลุ่มก็พลอยจะสนใจตามๆ กันไปด้วย แต่ความยากอยู่ที่การสร้างความสนใจนี้ให้เกิดขึ้นมากกว่าการไปจับยัดให้เด็กตามหลักสูตรอย่างเดียว
สำหรับเด็กๆ แล้ว เขาสนใจกับสิ่งกระตุ้นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา แต่จะพัฒนาเป็นความสนใจจริงๆ หรือเปล่านั้นไม่แน่เสมอไป แต่เท่าที่เห็นกระบวนการกลุ่มมีความสำคัญมาก ถ้าเพื่อนเอา ก็เอาด้วย ...ถามไปถามมาทุกคนพูดแบบเดียวกัน เลยไม่รู้ว่าใครเอา แต่ว่ากลายเป็นทั้งกลุ่มเอา เดินไปด้วยกันได้ ดังนั้นจริงๆ แล้วรร.จะได้เปรียบในเรื่องการจัดกระบวนการกลุ่ม ถ้าสามารถสร้างความสนใจให้กับแกนนำหรือกลุ่มนำได้ กลุ่มใหญ่ก็เคลื่อนตามได้ กลุ่มนำคือกลุ่มที่เกิดความสนใจอันเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น ต่างจากคนทำคะแนนเต็มหรือเรียนเก่งๆ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มตาม คือครูสอนอะไรก็ว่ากันไปตามนั้น เชื่อฟัง ตั้งใจเรียน ทำงานตามที่สั่ง อยู่ในโอวาท เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตาม ไม่มีพลังจะไปดึงเพื่อนๆ ให้เกิดความสนใจในเรื่องนั้นๆ ได้ สนใจแต่จะทำคะแนนให้กับตัวเองเท่านั้น
คุณไอน์สไตน์ดูเหมือนเคยพูดไว้ว่า “คนเราเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะไม่มีใครคิดถึงเรื่องเวลายืดหดได้อีกเลย มันเป็นความคิดของเด็กเท่านั้น แต่โชคดีที่หัวผมช้า ผมจึงเพิ่งมาสงสัยเรื่องเวลายืดหด เอาเมื่อตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”
ชาร์ล ดาร์วิน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ เซอร์ไอแซค นิวตัน สามอภิมหาอัจฉริยะอันดับ 1 – 3 ของโลก เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็กด้วยความผิดปกติ ทั้งดาร์วิน ไอน์สไตน์ และนิวตัน ถูกครูปรามาสว่า เป็นเด็กหัวทึบ ครูบางคนถึงขนาดบอกว่าปัญญาอ่อนกว่าเด็กทั่วไป
หัวช้า เรียนรู้ไม่ได้ 0 คะแนน มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย และไม่ได้แปลว่า "อย่าไปเรียนเรื่องนี้เลย มันไม่เหมาะกับเธอหรอก"