พอดีช่วงนี้เจ้าหน้าที่จะมานิเทศที่บ้าน เลยคิดว่ามีประเด็นอะไรอยากพูดคุยหรือฝากไปบ้าง แน่นอนถัดจากการนิเทศก็คือการประเมิน
มีครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่มาดูงานที่บ้าน มีจนท.จากจังหวัดอื่นถามคำถามน่าสนใจไว้ คือ คิดว่ายังไงเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนของบ้านเราจะครอบคลุมครบถ้วนถามหลักสูตรแกนกลางใช่ไหม ตอนนั้นลูกอยู่อนุบาลก็บอกว่าอนุบาลครอบคลุมแน่ ๆ แต่ประถมคิดว่าไม่ เราบอกไม่ได้เพราะเราจัดหลักสูตรตามลูกไม่ได้จัดตามหลักสูตรแกนกลาง (บางทีก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงอยากให้จัดตามหลักสูตรแกนกลางกันจัง ทั้งที่ผลลัพธ์ก็เห็น ๆ กันอยู่ -*-)
อยู่ดี ๆ มีความคิดเอามาตรฐานหลักสูตรไปเปรียบกับรถยนต์และเห็นว่าทำให้เห็นภาพดีเลยเอามาเล่าให้ฟังครับ ผมขอเปรียบหลักสูตรแกนกลางเป็นรถยนต์ Toyota ครบเครื่องมาตรฐานทั่วไปดี ทน ราคากลาง ๆ ความเร็ว ใช้งานดีเหมาะกับสภาพแวดล้อมบ้านเรา ไม่ว่าในแง่ไหนก็กลาง ๆ ไม่เด่น ไม่แย่ ส่วนหลักสูตรบ้านเรียน ทำไปทำมาเราไม่ได้รถ Toyota น่ะสิครับ บางทีเราก็ได้ Ferrari เข้าใจไหมครับ แพง หรูหรา แต่อาจใช้งานไม่เหมาะสภาพถนน ภูมิอากาศ เอามาตรฐาน Toyota ไปจับ ในแง่ราคารถ นี่อย่าว่าตกเกณฑ์เลย มันติดลบเจ็ดชั่วโครตด้วยซ้ำ เข้าใจไหมครับ แต่ถามว่าในแง่มูลค่า อันไหนมันมากกว่ากันละ
และบ้านเรียนก็ไม่ได้มีแต่ Ferrari บางทีเราก็มีรถอีแต๋น คือวิ่งโครตช้า ขวางถนน นั่งไม่สบาย แต่มันใช้งานในไร่นาได้ดี มีมูลค่าสำหรับเกษตรกร แต่ถ้าเอามาตรฐานรถ Toyota ไปจับ ก็ตกระนาวอีก แต่บ้านที่ทำเกษตรเค้าก็อยากได้รถอีแต๋นไว้ใช้มากกว่า Toyota นี่ครับ
เท่านี้พอจะเห็นภาพไหม ทีนี้เวลาประเมิน ถ้าเราไม่ปรับหลักสูตรให้เป็นแบบสำหรับรถอีแต๋น หรือรถ Ferrari จนท.เค้าก็เอามาตรฐานหลักสูตรแกนกลางปรกติที่เป็นของ Toyota ไปจับ เรื่องความเร็ว ความแรงก็ผ่าน แต่มันจะแรงมากไปแค่ไหนเค้าก็ไม่สนใจ คือวิ่งเร็วพอ ๆ กับ Toyota ก็ผ่านแล้ว เร็วกว่า 3 เท่าก็เท่านั้น แต่มันดันราคาแพงไม่คุ้มค่า ยังไงมาตรฐานด้านนี้ก็ตก
เหมือนเป็นเรื่องเล่น ๆ แต่นี้เป็นประเด็นใหญ่ที่พ่อแม่บ้านเรียนและเจ้าหน้าที่เขตเข้าใจไม่ตรงกันเลยทีเดียวนะครับ
คือพ่อแม่ที่มีลูกเก่งด้านใดด้านหนึ่งชัดเจน มักจะเกรงว่าเจ้าหน้าที่อาจจะไม่มีความรู้เพียงพอ หรือเข้าใจเรื่องนั้นมากพอที่จะประเมินลูกตัวเอง ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ ปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่ เจ้าหน้าที่เค้ามีเกณฑ์มาตรฐานกลาง ๆ มาตรฐานเดียวตามตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง คือถ้าลูกเก่งดนตรี เล่นได้ระดับโลก ในสายตาเจ้าหน้าที่ก็คือได้ 4 เท่ากับเด็กที่เล่นเครื่องดนตรีฟังพอเป็นเพลงรู้เรื่อง จบ จะเก่งไปไกลแค่ไหนก็คือผ่าน แล้วเค้าก็จะไปตรวจเรื่องอื่นต่อ เรื่องนี้จบง่ายผ่านเกณฑ์เร็วมีตัวชี้วัดชัดเจน เค้าก็ไปไล่ดูเรื่อง วิทย์ คณิต ที่ลูกอาจจะไม่ชำนาญกันต่อ แล้วก็ดูว่าไปพวกนั้นผ่านเกณฑ์หรือเปล่า โดยที่ไม่ได้ดูว่าเราทุ่มเทเวลาไปกับอะไร แล้วก็มักจะบอกว่า พ่อแม่อย่าไปยึดติดกับคะแนน คะแนนไม่ดีเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าชีวิตลูกจะย่ำแย่ ประมาณกว่าคุณก็ต้องยอมรับเกณฑ์รถ Toyota ไปถึงแม้ว่าลูกเราจะไปทางรถอีแต๋นหรือรถ Ferrari
ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น คือรถตักดิน ถ้าเอามาตรฐานรถ Toyota ไปจับคุณก็จะพบว่า จะมีที่ตักไปทำไม มันไม่อยู่ในมาตรฐาน เรื่องนี้ก็จะเหมือนกับว่า เด็กจะรู้เรื่อง xxx (ที่ไม่อยู่ในหลักสูตร) ไปทำไม หรือจะทำเรื่อง xxx ไปทำไม จะได้อะไรขึ้นมา ด้วยว่าเพราะมันไม่ได้อยู่ในหลักสูตร พอไม่อยู่ในหลักสูตร ไม่ได้เป็นวิชาหลักนัยหนึ่งก็คือไม่มีประโยชน์ ดูสิ พอมีที่ตักแล้วก็ยังวิ่งช้ากว่ามาตรฐานอีก คือรถตักล้อมันใหญ่เพื่อที่จะไปในที่ต่าง ๆ ได้คล่อง ลุยน้ำ ลุยโคลนได้ ก็แลกมาด้วยความเร็วที่ลดลง ประเด็นก็คือรถตักก็มีคุณค่าในแบบของมัน แต่เทียบกับมาตรฐานรถโตโยต้ามันก็ต่ำกว่าในหลายเรื่อง เกินไปบางเรื่อง
วิธีแก้ก็คือ คนทำบ้านเรียนต้องปรับหลักสูตรให้เป็นของตัวเอง ให้เป็นสิ่งที่ตัวเองเข้าใจคุ้นเคย ซึ่งจะช่วยทำให้เราสังเกตพัฒนาการลูกในเรื่องนั้น ๆ ได้ง่าย และสิ่งที่เราสังเกตเห็นโดนใจ ประทับใจเรานั้นแหละจะเป็นตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการจัดการเรียนของเรา ซึ่งบางเกณฑ์มันตามมาทีหลัง ไม่ได้ถูกตั้งไว้ก่อนและมันเกิดขึ้นและอาจใช้ได้เฉพาะสำหรับเด็กคนนี้เท่านั้น
ปัญหาที่ผ่านมาคือ คนทำบ้านเรียน ยังไม่สามารถฉายภาพให้เห็นว่า เรากำลังสร้างรถแบบไหน มีหน้าตาสมถนะอย่างไร ด้วยติดเรื่อง ข้อกำหนดทางเทคนิคต่าง ๆ ทั้งการถูกบีบให้เขียนแผนตามหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งก็คือการบังคับให้วางแปลนเป็นรถเก๋ง รถโตโยต้าประเภทเดียว พอวางแปลนตั้งต้นไม่ตรง ถึงเวลาสร้างรถออกมามันก็ตก ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ กับมาตรฐาน ซึ่งในพื้นที่ที่มีคนทำบ้านเรียนมาก่อน ผ่านไปสักพักมักจะได้รับการยอมรับจากจนท.ว่าจริง ๆ แล้ว คุณทำรถ Ferrari มันก็เจ๋งดีนะ เป็นรถอีแต๋นมันก็ใช้ประโยชน์ได้ดีนี่น่า แต่ถ้าเป็นรถตักที่ยังไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามผมคิดว่า ณ ปัจจุบันในพื้นที่ที่มีคนทำบ้านเรียนมาก่อน เกิดการยอมรับตรงนี้แล้ว สิ่งที่เราจะเดินต่อก็คือ เราต้องฉายภาพให้ชัดเจนว่า เด็กของเราเติมโตมาอย่างไร เขามีคุณค่าในแบบของเขาอย่างไร เปรียบได้กับการที่เราได้เสนอแบบแปลนรถที่ เราคาดว่าจะสร้าง และฉายภาพให้ได้ว่า รถของเรามีสมถนะอย่างไร มีคุณค่าในแบบของตัวเองอย่างไร จะเป็นรถตัก รถอีแต๋น หรือรถมอเตอร์ไซด์ ซึ่งเปรียบได้กับการ เขียนแผน การวัดและประเมินผลให้ตรงกับตัวตนของเด็ก ถ้าเราทำรถตัก เราต้องบอกได้ว่าอะไรที่จะบอกได้ว่ารถตักนี้เป็นรถตักที่ดี พัฒนามาจาก version ก่อนหน้ายังไง ถ้าเราฉายภาพตรงนี้ได้ถือว่างานของเราเสร็จแล้ว ส่วนเสริมต่อไปที่จะมีเพิ่มเพื่อให้รองกับกับกฎระเบียบก็คือ การนำไปเทียบกับมาตรฐานของรถเก๋ง ซึ่งเราจะเทียบให้ หรือเจ้าหน้าที่จะเทียบเอง เทียบแล้วคะแนนตรงไหนจะตกไปบ้างก็จะไม่เป็นปัญหาแล้ว เพราะคุณค่าของรถที่ตรงกับการใช้สอยได้ถูกพิจารณาอย่างสมเหตุสมผลแล้ว หากจะถูกนำไปเทียบกับรถคนละประเภทก็เป็นไปเพื่อการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างเท่านั้น เวลาและการเติบโตของเด็กจะเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าหลักสูตรที่เราปรับใช้และการประเมินของเรา เทียบกับมาตรฐานกลาง อย่างไหนจะมีคุณค่าต่อตัวเด็ก และเป็นกระจกสะท้อนพัฒนาการเด็กได้เที่ยงตรงกว่ากัน