การผจญภัยของเด็ก HomeSchool ตอนที่ 6
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
จะว่าไปแล้วการจัดสอบหลายๆ ครั้ง นอกจากจะมีข้อเสียตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะ การประกาศผลสอบแต่ละครั้ง จะมีการแจ้งคะแนนสอบเป็นรายบุคคลด้วย ทำให้เด็กสามารถประเมินผลความสามารถของตัวเองได้ชัดเจน และหลอกตัวเองไม่ได้ ซึ่งต่างจากการสอบในสมัยก่อน ที่ปล่อยให้คะแนนสอบเป็นปริศนา และเป็นข้ออ้างคาใจของนักเรียนว่า ฉันทำได้ ฉันน่าจะสอบติด
อีกทั้งการสอบของมหาวิทยาลัยและแอดมิชชั่น ยังมีการจัดสอบให้ได้ผลคะแนนสอบออกมาก่อน นักเรียนจึงค่อยมาเลือกคณะที่ตนเองสนใจ และที่มีโอกาสที่ตนเองจะได้รับการคัดเลือก แล้วยังจัดสอบให้สองครั้งโดยนักเรียนมีสิทธิ์เลือกครั้งที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดด้วย ซึ่งผมมีความเห็นว่าดีมากๆ ไม่เหมือนการสอบเอนทรานซ์ที่ชี้เป็นชี้ตายกันครั้งเดียวตอนสอบเลย สร้างความเครียดให้นักเรียนจนถึงขีดสุด!!!!
 




 
การคิดคะแนนสอบในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป สมัยผมมีการสอบหกวิชา คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา อังกฤษและสามัญ1(ไทยและสังคม) วิชาละ 100 คะแนน เมื่อรวมหกวิชาได้คะแนนเป็นเท่าไร อยู่ในช่วงคะแนนสูงต่ำของคณะที่ต้องการหรือไม่ ถ้าอยู่ในช่วงคะแนนสูงต่ำ ก็สอบติดโดยไม่มีข้อแม้
ผมสอบไม่ติดโควต้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเลือกคณะแพทยศาสตร์ไว้ อาจารย์แนะแนวของโรงเรียนท่านก็เรียกไปให้ความเห็นว่า น่าจะเลือกคณะวิทยาศาสตร์ ถึงจะมีโอกาสสอบติด แต่ผมก็ไม่เชื่อท่าน
เมื่อถึงคราสอบเอนทรานซ์ ผมสอบติดคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำได้ว่าน่าจะเป็นอันดับสี่ของการเลือกในหกอันดับ แต่ผมรู้คะแนนสอบนะครับ!!!!! ไม่ใช่เพราะเส้นใหญ่อะไรหรอก มันเป็นเรื่องบังเอิญ
ในขณะสอบสัมภาษณ์เข้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ กรรมการถามผมว่า จะเรียนคณะนี้อยู่หรือ ผมถามท่านกลับว่า "ทำไมเหรอครับ" ท่านจึงบอกว่า ผมสอบได้คะแนนสูงสุดของคณะ
ดังนั้น เมื่อคะแนนสูงต่ำของการสอบในครั้งนั้นถูกประกาศออกมา ผมจึงรู้ได้ทันทีว่าผมได้คะแนนรวม 353 คะแนน ขาดอีกเพียง 22 คะแนนจะติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์ ผมจึงตัดสินใจจะสอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตั้งเป้าหมายคะแนนสอบต้องทำได้ 375 คะแนนขึ้นไป ด้วยกลยุทธ์มุ่งวิชาฟิสิกส์และชีววิทยาให้ได้คะแนนเกิน 80 อีกสี่วิชาให้ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 53 คะแนน ซึ่งวิชาที่เหลือก็พอทำได้ แต่ไม่เป็นเลิศ โดยวิชาที่ไม่มั่นใจที่สุดคือภาษาอังกฤษ หวังว่าจะได้สัก 30 คะแนน ให้เท่ากับที่มีคนเคยเล่าให้ผมฟังว่า ถ้าให้ลิงมาทำข้อสอบ 100 ข้อ ลิงทำมั่วๆจะได้ประมาณ 30 คะแนน!!!! ในที่สุดผมก็สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจริงๆ
เล่าเรื่องของตัวเองมาเสียยืดยาว เพื่อจะบอกสิ่งนี้ครับว่า กลยุทธ์ที่ผมใช้ในอดีตไม่สามารถใช้ในปัจจุบันนี้ได้แล้ว เพราะ....... (ผมขอยกตัวอย่างเกณฑ์ของการสอบแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)
1 มีการกำหนดเกรดเฉลี่ยจากโรงเรียน ทั้ง GPA รวม และ GPA รายวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ต้องไม่ต่ำกว่า 3.00
ผมหมดสิทธิ์สอบเลยครับ เพราะผมจบมัธยมเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 3.00 เคยสอบตกวิชาฟิสิกส์ได้เกรด 0 ด้วย
2 มีคะแนนสอบสองส่วน วิชาเฉพาะแพทย์ 30% วิชาสอบอื่นๆ 70%
3 มีการกำหนดคะแนนสอบขั้นต่ำรายวิชา 
ภาษาอังกฤษต้องไม่ต่ำกว่า 40 (พวกแข่งภาษาอังกฤษกับลิงแบบผม หืดขึ้นคอเลยครับ)
วิชาวิทยาศาสตร์ต้องไม่ต่ำกว่า 35
4 มีการกำหนดน้ำหนักคะแนนแต่ละวิชา 
วิชาวิทยาศาสตร์ 40%
วิชาอังกฤษ 20% 
วิชาคณิตศาสตร์ 20%
วิชาภาษาไทย 10%
วิชาสังคม 10%
นั่นย่อมหมายถึงการเก็งคะแนนรายวิชาแบบที่ผมเคยทำในอดีต เอามาใช้ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว นักเรียนต้องสามารถทำได้ทุกวิชา
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกำหนดคะแนนภาษาอังกฤษขั้นต่ำสูงลิ่วถึง 40% มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ไม่น้อยหน้า ถึงจะไม่กำหนดคะแนนขั้นต่ำของภาษาอังกฤษ แต่ให้น้ำหนักคะแนนสูงกว่าวิชาวิทยาศาสตร์เสียอีก (อังกฤษ 20% วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 15%)
แบบว่าขยันทำร้ายลิงอย่างผมจริงๆเลย!!!
แล้วเด็กHomeSchool อย่างลูกชายผม จะไปถึงฝันได้หรือ?????